28 สิงหาคม 2559

บริการการวางแผนการเงินเป็นอย่างไร?

"7 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการใช้บริการวางแผนทางการเงิน"


ตอนนี้ การให้บริการวางแผนทางการเงิน หรือการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เริ่มเป็นที่รู้จัก และเป็นที่พูดถึงในสังคมเรามากขึ้นเรื่อยๆแล้วนะครับ แต่หลายคนก็อาจจะยังไม่เห็นภาพ หรือไม่เข้าใจการให้บริการของพวกเรามากนัก และอาจจะยังเข้าใจผิดอยู่บางเรื่อง

วันนี้ผมเลยอยากจะมาสรุปให้ฟังจากประสบการณ์ที่ผ่านๆมาครับ ว่าอะไรบ้างที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการให้บริการวางแผนทางการเงินและตัวของนักวางแผนทางการเงินอยู่ และแท้จริงแล้ว มันเป็นอย่างไรกันแน่ครับ

=================================

สิ่งที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดกับการให้บริการวางแผนทางการเงิน / นักวางแผนทางการเงิน

1. บริการวางแผนทางการเงินมีไว้สำหรับคนรวย / ไว้รวยก่อนค่อยมาใช้บริการ

ความจริง = ใครๆก็สามารถใช้บริการวางแผนทางการเงินได้ครับ เราไม่เคยปฏิเสธที่จะเข้าหา หรือปฏิเสธที่จะไม่ให้บริการแก่ใครเป็นพิเศษ การคิดว่ารอไว้รวยก่อนแล้วจะมาใช้บริการก็อาจจะมีโอกาสเป็นไปได้ยาก เพราะระหว่างทางอาจมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นที่เราอาจจะนึกไม่ถึง ทำให้เป้าหมายที่จะรวยต้องสูญสลายไป แต่การใช้บริการวางแผนตั้งแต่ยังไม่รวยมากต่างหาก ที่จะมีโอกาสทำให้เรารวยได้ อย่างมั่นคงและปลอดภัยจริงๆ

----------------------------------------------------------

2. ค่าบริการ / ค่าที่ปรึกษา ต้องแพงมากแน่ๆ

ความจริง = การคิดค่าบริการวางแผนหรือการให้คำปรึกษาจะไม่ได้คิดเท่ากันทุกคนครับ ขึ้นอยู่กับฐานรายได้รวมหรือฐานทรัพย์สินที่บริหารจัดการ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆไป แต่เบื้องต้นค่าบริการขั้นต่ำที่สุดก็อยู่แค่ประมาณ 1x,xxx บาท ในปีแรกเท่านั้น (ปีต่อๆไปจะน้อยกว่านี้ เพราะไม่ต้องทำแผนการเงินเต็มรูปแบบอีก)

----------------------------------------------------------

3. ก็แค่เป็นบริการแนะนำว่า เราควรจะซื้อประกัน / กองทุนอะไร เท่าไหร่

ความจริง = การให้คำแนะนำเรื่องสินค้าทางการเงินที่จะช่วยให้บรรรลุเป้าหมายหรือการคุ้มครองความเสี่ยงที่เหมาะสม เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำปรึกษาที่ได้ให้เท่านั้น เพราะในแผนการเงินที่วางแผนไว้ให้ยังมีรายละเอียดอีกมาก ทั้งการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน, การวางแผนและควบคุมกระแสเงินสดให้เป็นไปตามแผน ฯลฯ และอาจจะรวมไปถึงการให้คำปรึกษาชีวิตในด้านอื่นๆที่นอกเหนือจากเรื่องการเงินอีกด้วย (เพราะทุกอย่างในชีวิตล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินทั้งหมด ไม่มากก็น้อย)

----------------------------------------------------------

4. นักวางแผน / ที่ปรึกษาทางการเงิน ก็คือคนมาขายประกันนั่นแหละ

ความจริง = บางคนพอเราบอกว่าเป็น นักวางแผนทางการเงิน ก็จะคิดว่าเรามาขายประกันเหรอ? ซึ่งอาจจะติดภาพลักษณ์มาจากคนที่เรียกตัวเองว่า ที่ปรึกษาทางการเงิน บางคน ที่ไม่ได้ให้บริการวางแผนการเงินอย่างเต็มรูปแบบ แต่อาจจะดูแลเฉพาะเรื่องประกันเป็นพิเศษเท่านั้น (เรื่องอื่นๆอาจจะมีบ้าง เช่น ซื้อกองทุน คำนวณภาษี แต่ไม่ได้ลงลึก และครอบคลุมเท่า) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นักวางแผน / ที่ปรึกษาทางการเงินที่ทำงานเต็มรูปแบบและเป็นมืออาชีพจริงๆ จะต้องทำแผนการเงินอย่างครอบคลุมให้ลูกค้าได้ และมีลักษณะเป็นการขาย "บริการ" การให้คำปรึกษา มากกว่าเป็นการขาย "สินค้า" อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะครับ

----------------------------------------------------------

5. นักวางแผน / ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นจากการแนะนำสินค้าให้ลูกค้าอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาคิดค่าบริการจากลูกค้าอีก

ความจริง = ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ โดยแยกประเด็นก่อนว่า ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นนั้น "นักวางแผนทำงานให้ใคร?" ค่าคอมมิชชั่นที่นักวางแผนได้รับจากการแนะนำสินค้า คือการทำงานเป็นตัวแทน หรือนายหน้า ให้กับ "บริษัท" ที่ผลิตสินค้าทางการเงิน ช่วยบริษัทขายสินค้าโดยที่บริษัทไม่ต้องมาขายเอง บริษัทก็เลยจ่ายค่าตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่นให้ แต่การวางแผน ให้คำปรึกษา และจัดทำแผนการเงิน คือบริการที่นักวางแผนทำงานให้ "ลูกค้า" ดังนั้น นักวางแผนจึงจำเป็นจะต้องคิดค่าบริการ จากการลงทุนลงแรงตรงจุดนี้ด้วยเช่นกันครับ

----------------------------------------------------------

6. บริการวางแผนทางการเงิน ก็คือมีคนคอยบริหารการลงทุนแทนเรา

ความจริง = นักวางแผนการเงิน ไม่ใช่คนที่จะบริหารการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ลูกค้ามุ่งหวังนะครับ เพราะนั่นมันคือหน้าที่ของนักบริหารพอร์ตการลงทุน หรือผู้จัดการกองทุน ที่อยู่ที่บลจ. ครับ ส่วนตัวนักวางแผน จะทำหน้าที่เป็นคนกลาง ระหว่างลูกค้า กับผู้จัดการกองทุน โดยรับเป้าหมายของลูกค้า มาจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมให้ และให้ทางฝั่งผู้บริหารพอร์ตการลงทุน เป็นคนคอยจัดการเรื่องการลงทุนให้ครับ โดยมีทางนักวางแผน เป็นผู้คอยติดตามผลการดำเนินงาน และอาจจะให้คำแนะนำในการปรับพอร์ตการลงทุนเท่านั้น ไม่ได้เป็นคนลงมือซื้อขายหลักทรัพย์ หรือบริหารการลงทุนแทนลูกค้าครับ

----------------------------------------------------------

7. ไม่อยากใช้บริการ เพราะไม่มีอะไรมาการันตีผลลัพธ์ความสำเร็จ

ความจริง = ที่จริงก็คิดไม่ผิดหรอกครับ เรื่องที่ไม่มีอะไรมากันตีความสำเร็จได้ แต่ต้องทำความเข้าใจเรื่องของการวางแผนอย่างหนึ่งก่อนว่า การวางแผน ไม่ใช่การการันตีความสำเร็จของผลลัพธ์ได้อยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการ "เพิ่ม" โอกาส ในการไปให้ถึงเป้าหมายได้เท่านั้น ซึ่งการมาใช้บริการวางแผน จะช่วยให้คุณมีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำอะไรได้ถูกต้อง อยู่ในทิศทางที่ใช่ ไม่ต้องกลัวจะเดินหลงทางด้วยตัวเอง ดังนั้น เราจ่ายเงินค่าบริการ จึงไม่ใช่การจ่ายเพื่อซื้อ "ความสำเร็จ" (เพราะถ้าทำแบบนั้นได้จริงเชื่อว่าราคาแพงแค่ไหนก็คงยอมจ่าย) แต่เป็นการจ่ายเพื่อซื้อ "วิธีการ" ที่ถูกต้องมากกว่าครับ

=================================

22 สิงหาคม 2559

ทำไมต้องวางแผนการเงิน






การวางแผนการเงิน ( Financial Planning ) หมายถึง กระบวนการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ทางการเงินของแต่ละบุคคล อาจจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Personal Finance

ทำไมต้องวางแผนการเงิน 

1.คนอายุยืนขึ้น

ปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ย 71 ปี แต่ถ้าเราเก็บสถิติเฉพาะคนไทยที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะพบว่า
ท่านเหล่านั้นจะอยู่ได้อีกประมาณ 20 ปี ( ข้อมูลจากสถาบันประชากรและสังคม ม.มหิดล ) ดังนั้น
จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า ช่วงเวลาหลังเกษียณที่ต้องอยู่อีกตั้ง 20 ปี เราจะอยู่กันอย่างไร 
ถ้าไม่มีการวางแผนการเงินที่ดีพอ

2.โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป

เดิมคนไทยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ปัจจุบันแยกย้ายกันอยู่ เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น 
การคาดหวังให้ลูกหลานเลี้ยงดู เป็นเรื่องที่หวังได้น้อยลง เราจึงต้องเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ

3.ค่าครองชีพในอนาคตจะสูงขึ้นมาก 

ข้าวของในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นทุกวัน อีก 20-30 ปีข้างหน้าในวันที่เราเกษียณ 
สินค้าที่จำเป็นอาจแพงขึ้นอีก 1-2 เท่าตัว โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ที่มักมีอัตราการเพิ่มขึ้น
ของค่าใช้จ่ายมากกว่าเงินเฟ้อเสมอ ดังนั้นงบประมาณที่เราเตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ 
ถ้าไม่ได้คำนวนเผื่อค่าเงินเฟ้อไว้ด้วย

4.สวัสดิการของรัฐไม่เพียงพอแน่

ในอีก 15 ปีข้างหน้า สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเป็น 20% นั่น
หมายความว่า 1 ใน 5 ของคนไทยจะเป็นคนสูงอายุ ขณะที่สัดส่วนของคนวัยทำงานต่อคนสูงอายุ
จะลดลงจาก 6:1 ในปัจจุบันเป็น 3:1 ในปี 2021 ทำให้ภาษีที่รัฐเก็บได้จะไม่เพียงพอต่อการจัดหา
สวัสดิการให้คนสูงอายุ หรือหากทำได้ก็เป็นแบบพื้นๆเท่านั้น

5.ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น

สมัยก่อนการฝากเงินในธนาคารให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจและมีความมั่นคงสูง เดี๋ยวนี้ดอกเบี้ย
เงินฝากลดน้อยลงมาก ขณะที่ช่องทางการลงทุนใหม่ๆมีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น 
แต่ก็มีรูปแบบและความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป การทำความเข้าใจและรู้จักวางแผนการลงทุน
ให้ถูกต้องเหมาะสมกับแต่ละบุคคล จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

6.ทำให้เราสามารถเกษียณอายุได้เร็วขึ้น

หากมีการวางแผนที่ดีและเริ่มต้นเร็ว ย่อมบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่า ไม่ว่าจะเป็นเงินออมที่เก็บ
ได้มากขึ้น ดอกเบี้ยทบต้นที่สูงขึ้น หรือการสามารถหาประโยชน์จากโอกาสดีๆที่บังเอิญผ่านเข้า
มา เพราะเรามีเงินออม เงินก้อนที่เก็บเอาไว้ เช่น ซื้อที่ดินทำเลสวยจากคนที่ร้อนเงิน หรือ 
ซื้อหุ้นพื้นฐานดีที่ราคาตกลงมามากเกินควร

7.ช่วยรองรับความเสี่ยงของชีวิตได้มากขึ้น 

ชีวิตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เราอาจโชคร้าย เจ็บป่วย หรือ เกิดอุบัติเหตุหนักๆขึ้นได้
 แต่ถ้าเรามีการวางแผนการประกันภัยไว้ ย่อมสามารถบรรเทาภาระต่างๆลงได้ หรือ
 เราเกิดตกงานกระทันหัน มีคนในครอบครัวป่วย การมีเงินเก็บสำรองไว้ ย่อมหลีกเลี่ยง
ความยุ่งยากจากการต้องไปกู้หนี้ยืมสินเงินกู้นอกระบบลงได้

14 สิงหาคม 2559

การวางแผนการเงินทำอะไรบ้าง?



คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าการวางแผนการเงิน คือ การลงทุน แต่จริงๆ ไม่ใช่นะครับ!

ความจริงแล้ว การวางแผนการเงินไม่ได้ดูแค่การลงทุนเพียงอย่างเดียว การลงทุนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงินเท่านั้น

แต่การวางแผนการเงินครอบคลุมตั้งแต่ การวางแผนบริหารรายรับรายจ่าย การวางแผนบริหารหนี้สิน การออมเงินเพื่อเป้าหมายในอนาคต การทำประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยง การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างคุ้มค่า การลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย และการวางแผนการส่งต่อมรดกให้ทายาทตามที่ต้องการ

การวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องของการวางแผนเพื่อตอบโจทย์ ความต้องการ และเป้าหมายในชีวิตของแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ นักวางแผนการเงินจะทำหน้าที่ค้นหาเป้าหมายทางการเงินของคุณ เช่น มีเงินเท่าไหร่ถึงพอเกษียณอายุ ต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ถึงจะพอส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี ต้องผ่อนบ้านเดือนละเท่าไหร่จึงจะหมดภาระก่อนเกษียณ แล้วนำความต้องการมาวางแผน หลังจากนั้นแล้วจึงค่อยจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินตามที่คุณต้องการ

11 สิงหาคม 2559

อาชีพนักวางแผนการเงิน (FINANCIAL ADVISOR)


อาชีพนักวางแผนการเงิน (FINANCIAL ADVISOR)
ยังเป็นสิ่งใหม่ในอุตสาหกรรมการเงิน ในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก หรือแม้แต่จะเข้าใจไปผิดๆ ก็เยอะ เช่น 

1. มาวางแผนการเงินก็คือ มาขายประกันนั้นแหละ ไม่ต้องมาทำแอ๊ป (กระทู้ในพันธ์ทิพย์) 

2. เชื่อว่า นักวางแผนการเงินต้องเก่งเรื่องหุ้นแน่ๆ (คิดแบบนี้กันเยอะ) ที่จริงแล้วนักวางแผนการเงินไม่ใช่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์นะครับ 
3. การวางแผนการเงิน เหมาะกับคนรวยเท่านั้นแหละ (อ้าวแล้วคนกินเงินเดือนไม่มีเป้าหมายชีวิตหรือ)
4. นักวางแผนการเงิน ใครๆก็เป็นได้