27 ธันวาคม 2559

โค้งสุดท้ายปลายปี ประหยัดภาษี ด้วย LTF ในดวงใจ


กลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้อง เพราะพอเข้าโค้งสุดท้ายใกล้ปลายปี ก็มักจะหนีไม่พ้นคำถามยอดนิยม นั่นคือ “ซื้อ LTF ตัวไหนดี”
 ปีนี้ก็เลยจัดมาให้ 7 มุมมอง จากกระบวนการคัดเลือกกองทุนที่หลากหลาย และแถมท้ายให้ด้วย “Money Tips TOP Pick” โดยเป็นกองทุน LTF ที่ได้รับการแนะนำจากกูรูมากที่สุด

FINNOMENA

ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2559 มีงานใหญ่ FINNOMENA RMF LTF Showcase ที่บรรดากูรูของ FINNOMENA ระดมสมองคัดเลือกกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุน รวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่คิดว่า “เด็ด” มาขึ้นเวที ทั้งหมด 7 กองทุน
 ในจำนวนนี้เป็น LTF อยู่ 4 กองทุน ได้แก่ MSCORE-LTF, CG-LTF, B-LTF และ 1SG-LTF
 FINNOMENA บอกว่า กว่าจะคัดกรองออกมาเป็น 4 กองทุนเด่นไม่ใช่ง่ายๆ เพราะต้องดูทั้งคุณภาพและปริมาณ ทั้งจากนโยบายการลงทุนและผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ “โอกาสในอนาคต”
 นอกจากนี้ ยังประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น ความผันผวน ปริมาณการซื้อขาย ค่าธรรมเนียม ไปจนถึงระยะเวลาที่ผู้จัดการกองทุนเข้ามาบริหารจัดการกองทุน

TREASURIST

อาจจะยังไม่คุ้นชื่อ TREASURIST แต่ถ้าบอกว่า โมเดล หรือกระบวนการคัดเลือกกองทุนแนะนำ
พัฒนาขึ้นมาจากมันสมองของผู้คร่ำหวอดในแวดวงการลงทุนและกองทุนรวม 2 คน ได้แก่ ผู้ก่อตั้งเพจ Thailand Investment Forum และเพจคลินิกกองทุน
 “กองทุนที่เราแนะนำ ไม่ได้ดูที่ผลงานในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่ยังดูศักยภาพในอนาคตด้วย”
 ทั้งนี้ ข้อมูลในอดีตจะดูจากผลตอบแทนรวม และความผันผวนของราคา ในหลายๆ ช่วงเวลาประกอบกันเพื่อให้ได้กองทุนที่มีผลงานดีอย่างสม่ำเสมอทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และยาว
 ขณะที่ การประเมินศักยภาพในอนาคต จะดูที่ความสามารถโดยรวมของบริษัทจัดการ หากบริหารจัดการกองทุนในกลุ่มนั้นได้ดี ก็น่าจะมีโอกาสที่จะดีต่อเนื่องไปในอนาคต
 นอกจากนี้ ยังพิจารณาค่าธรรมเนียมการจัดการที่จะเก็บจากกองทุน เนื่องจากค่าธรรมเนียม (ที่แม้จะดูน้อยนิด) แต่เป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย ไม่ว่าผลตอบแทนของกองทุนจะเป็นอย่างไร

หมอนัท คลินิกกองทุน

ถ้าเป็นเรื่องกองทุนรวม ในเวลานี้คงต้องนึกถึงผู้ชายคนนี้ “หมอนัท” ธนัฐ ศิริวรางกูร เจ้าของคอลัมน์ Fund Clinic ของเรานั่นเอง นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งใน FINNOMENA กูรู และร่วมพัฒนาโมเดลของ TREASURIST อีกด้วย
 แต่ถ้าถามมุมมองส่วนตัว หมอนัท บอกว่า กองทุนที่น่าสนใจสำหรับเขาขอแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตามนโยบายการลงทุน
 1.ลงทุนหุ้น 100% ได้แก่ B-LTF, CG-LTF และ MSCORE-LTF
 2.ลงทุนหุ้นผสมตราสารหนี้ ได้แก่ BLTF75
 3.ลงทุนหุ้นผสมตราสารหนี้ หรืออสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ LHSMART-LTF และ TLLTFEQ กองทุนนี้ชื่อย่ออาจจะไม่คุ้นหูคุ้นตา เพราะเป็นกองทุนน้องใหม่จาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทาลิส
 4.มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ได้แก่ PHATRA LTFD





มอร์นิ่งสตาร์ 5 ดาว

ไม่ต้องเกริ่นอะไรให้เยิ่นเย้ออีกแล้ว สำหรับ “มอร์นิ่งสตาร์” เพราะทุกวันนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ก็มักจะตัดสินใจเลือก “กองทุนน่าซื้อ” โดยดูจากการจัดอันดับผลตอบแทนของ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และโดยมากก็จะดูเพียงผลตอบแทนของปีนี้เท่านั้น
 แต่ในที่นี้ขอหยิบกองทุน LTF ที่มอร์นิ่งสตาร์จัดให้ “5 ดาว” ซึ่ง ณ วันที่ 22 ธ.ค. 2559 มีอยู่ 3 กองทุน จากทั้งหมด 62 กองทุน ได้แก่ B-LTF, CG-LTF และ PHATRA LTFD
 สาเหตุที่มี LTF ที่ได้ 5 ดาวอยู่เพียง 3 กองทุน ก็เพราะกองทุนที่มอร์นิ่งสตาร์จะนำมาจัดอันดับ (หรือให้ดาว) จะต้องเป็นกองทุนที่มีผลดำเนินงานต่อเนื่องอย่างน้อย 36 เดือน โดยการจัดอันดับจะดูจากผลตอบแทนที่คำนึงถึงความเสี่ยงด้วย (Morningstar Risk-Adjusted Return)
 จากนั้นจะนำมาเรียงลำดับจากคะแนนมากที่สุดไปจนถึงน้อยสุด โดยกองทุนที่ได้คะแนนมากที่สุด 10% แรกของกลุ่มถึงจะได้ 5 ดาว (ถ้าอยากรู้ว่า กองทุนอื่นๆ ได้กี่ดาวกันบ้าง ต้องเข้าไปที่ www.morningstarthailand.com)
 นอกจากจะดู “ดาว” แล้ว กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาวัด “ความสม่ำเสมอ” ของกองทุนได้ โดยใช้ค่าสถิติ Batting Average
 “Batting Average คือ ค่าสถิติของกีฬาเบสบอลซึ่งมีไว้ใช้วัดค่าเฉลี่ยในการตีลูกเบสบอลของนักกีฬาเบสบอลในตำแหน่งลBatter หรือคนตีลูก ว่าสามารถตีลูกโดนกี่ % ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกองทุนรวมได้ว่า กองทุนกองไหนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ชนะค่าเฉลี่ยของกองทุนในกลุ่ม หรือ ดัชนีชี้วัด (Benchmark) ได้มากครั้งที่สุด” กิตติคุณ ระบุ
 เขาจึงคำนวณหา LTF ที่มีค่า Batting Average มากที่สุดในระยะเวลา 5 ปี และ 10 ปีที่ผ่านมา โดยใช้ดัชนี SET50 เป็นเกณฑ์ (เนื่องจาก LTF มากกว่า 90% เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่)
 กองทุนที่มีความสม่ำเสมอในการสร้างผลตอบแทนเอาชนะดัชนีชี้วัดมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ MA-LTF, 1SG-LTF, B-LTF, MS-CORE LTF, MV-LTF, UOBLTF, VALUE-D LTF, CIMB-PRINCIPAL LTF และ KTLF
 ขณะที่ MA-LTF, KTLF, 1SG-LTF และ MV-LTF ยังเป็นกองทุนที่มีความสม่ำเสมอในการสร้างผลตอบแทนเอาชนะดัชนีชี้วัดมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาด้วย

TOP 5 โดย บล.ฟิลลิป

สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล นักวิเคราะห์กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) เคยแจก “โพยกองทุน LTF” ที่น่าลงทุนในปี 2559 ไว้ 5 กองทุน ได้แก่ Phatra LTFD, MS-CORE LTF, 1SG-LTF, B-LTF และ P-LTF
 กองทุนน่าลงทุนในมุมมองของ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จะต้องมีอัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกองทุนในกลุ่ม LTF และต้องมีความผันผวนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มเดียวกัน
 แต่ที่น่าแปลกใจ คือ ทั้ง 5 กองทุนสำหรับปีนี้ เป็น 5 กองทุนที่น่าลงทุนมาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยเช่นกัน

WealthMagik Top Chart

ใน wealthmagik.com จะมีการจัดอันดับกองทุนรวมไว้ 3 หัวข้อ คือ Top Return (อันดับกองทุนรวมเด่นประจำสัปดาห์ โดยประเมินจากผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปี) Top Clicks คือ กองทุนรวมยอดฮิตที่มีสถิติเข้าชมข้อมูลบ่อยที่สุดบน WealthMagik ในแต่ละสัปดาห์ และ Top Chart
 ถ้าดูจาก Top Clicks ล่าสุด (นับจากวันที่ 12-18 ธ.ค. 2559) จะเห็นกองทุน B-LTF นำโด่งมาด้วยจำนวน 12,282 คลิก, KFLTFDIV 10,493 คลิก, KFSDIV 9,422 คลิก, K20SLTF 5,667 คลิก, CG-LTF 5,641 คลิก และ BBASICDLTF 5,046 คลิก
 แต่การจัดอันดับที่น่าสนใจ และไม่เหมือนใคร คือ Top Chart ได้แก่ กองทุนรวมที่ติด Top Returns อย่างต่อเนื่องนานที่สุด โดย LTF ล่าสุดที่ติดอันดับอยู่นานที่สุด ได้แก่ MS-CORE LTF ติดชาร์ตมาแล้ว 50 สัปดาห์
 รองลงมาเป็น P-LTF (48 สัปดาห์) MV-LTF (30 สัปดาห์) CG-LTF (27 สัปดาห์) MG-LTF (26 สัปดาห์) B-LTF (24 สัปดาห์) K20SLTF (23 สัปดาห์) PHATRA LTFD (14 สัปดาห์)  CIMB-PRINCIPAL LTF (5 สัปดาห์) และ MA-LTF (1 สัปดาห์)

Money Tips TOP Pick

หลังจากที่ดูการจัดอันดับ และกองทุนแนะนำ ของกูรูทั้งหมดแล้ว ลองมาไล่เรียงดูว่า มี LTF กองทุนไหนบ้างที่ถูกพูดถึงมากที่สุด
 กองทุนที่นำโด่ง คือ กองทุนบัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF) บลจ.บัวหลวง ไม่ว่าจะเป็นชาร์ตไหน ใครจัดอันดับ ก็ดูจะฮิตติดลมบนไปกับเขาเสียหมด แถมยังถูกใจนักลงทุน เพราะมีคนเข้าไปคลิกดูข้อมูลใน wealthmagik.com มาเป็นอันดับ 1 อีกด้วย
 ถัดมาเป็น กองทุน แมนูไลฟ์ สเตร็งค์ คอร์ หุ้นระยะยาว (MS-CORE LTF) บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) ได้รับการคัดเลือกไป 5 ครั้ง
 ขณะที่ กองทุนบรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว (CG-LTF) บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) และ กองทุน ภัทร หุ้นระยะยาวปันผล (PHATRA LTFD) บลจ.ภัทร ได้รับกันไปคนละ 4
 กองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ไลฟ์ หุ้นระยะยาว (CIMB-PRINCIPAL LTF) บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และ กองทุน วรรณเอเอ็มซีเล็คทีฟโกรทหุ้นระยะยาว (1SG-LTF) ได้มาคนละ 3
 แต่กองทุน LTF ที่น่าสนใจลงทุนเกือบทั้งหมด เป็นกองทุนที่เปิดมานาน มีผลงานดีมาต่อเนื่อง ในขณะที่ปีนี้มีกองทุน LTF ออกมาใหม่มาหลายกองทุน แถมยังมีนโยบายการลงทุนใหม่ๆ น่าสนใจไม่แพ้กองทุนเก่าๆ แถมหลายกองทุนยังพิสูจน์ผลงานได้จากกองทุนหุ้นธรรมดาที่เป็นต้นแบบของ LTF
 ถ้าจะนำ LTF ทั้งเก่าและใหม่มาจัดเป็นกลุ่ม ตามนโยบายการลงทุน จะได้ออกมา 5 กลุ่มกว้างๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เลือกหุ้นตามขนาดจากเดิมที่ LTF ส่วนใหญ่จะลงทุนเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้มีหลายกองทุนที่ออกมาใหม่และมีนโยบายลงทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก

กลุ่มที่ 2 เน้นหุ้นที่จ่ายปันผลสูง สังเกตง่ายๆ มักจะมีคำว่า “ปันผล” หรือ “ดิวิเดนด์” อยู่ในชื่อกองทุน

กลุ่มที่ 3 ลงทุนหุ้นไทยเพียง 70% ที่เหลือแบ่งไปลงทุนตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และหุ้นต่างประเทศ

กลุ่มที่ 4 ความผันผวนต่ำ ที่มีนโยบายที่จะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนมี “ความผันผวนต่ำ”

กลุ่มที่ 5 มีนโยบายเฉพาะเจาะจง เช่น ลงทุนตามหลักศาสนาอิสลาม หรือ หุ้นที่มีธรรมาภิบาลดี

มาถึงตรงนี้ คุณมีกองทุน LTF ในดวงใจแล้วหรือยัง