30 ตุลาคม 2560

ประกันชีวิตกับ LTF แบบไหนช่วยลดหย่อนภาษีดีกว่า


หลายคนคงกำลังสงสัยว่าระหว่างการทำประกันชีวิตกับซื้อ LTF ควรจะเลือกซื้ออะไรดีเพื่อนำมาลดหย่อนภาษีเงินได้ 

ประกันชีวิต

ในการลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตนั้น เงินค่าเบี้ยของประกันชีวิตที่คุณจะนำมา ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะ มี 2 แบบ แบบแรกคือค่าเบี้ยประกันชีวิต และแบบที่สองคือค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สำหรับค่าเบี้ยประกันอื่น ๆ เช่น ประกันสุขภาพและประกันอุบัติเหตุนั้น ไม่สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งประกันชีวิตที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีทั้ง 2 แบบมีเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
ค่าเบี้ยประกันชีวิต สามารถหักลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 100,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าประกันชีวิตต้องมีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และเงินคืนต้องไม่เกินกว่าร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันที่จ่ายรายปี 
ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถหักลดหย่อนได้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญเท่านั้น และมีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป  โดยผลประโยชน์ของเงินบำนาญจะจ่ายคืนเมื่อผู้มีเงินได้อายุ 55 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เงินค่าเบี้ยประกันบำนาญเมื่อนำไปรวมกับเงินสำรองเลี้ยงชีพ เงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินกองทุนสงเคราะห์โรงเรียนเอกชน เงินลงทุนใน RMF และเงินออมในกองทุนการออมแห่งชาติแล้ว จะสามารถนำมาลดหย่อนไม่เกิน 500,000 บาทค่ะ

LTF หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว

สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ตามจริง แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินที่ได้รับที่จะต้องเสียภาษีในปีนั้น และต้องไม่เกิน 500,000 บาท และผู้มีเงินได้ต้องถือครองการลงทุน LTF ไว้นาน 7 ปีจึงจะขายได้ หากขายก่อนก็ไม่สามารถนำเงินมาหักลดหย่อนภาษีได้ค่ะ

หากจะลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษี ประกันชีวิตกับ LTF แบบไหนดีกว่า?

การซื้อประกันชีวิตมีวัตถุประสงค์หลักคือเรื่องคุ้มครองความเสี่ยงและอาจมีแถมเรื่องของการสะสมทรัพย์เข้ามาด้วย ในขณะที่การซื้อ LTF นั้นมีวัตถุประสงค์หลักในเรื่องของการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นในระยะยาว ก่อนอื่นคุณคงต้องมาดูว่าก่อนว่ารวัตถุประสงค์ในการลงทุนของคุณเป็นแบบไหน
ความเสี่ยงจากความผันผวน LTF เหมาะกับคนที่สามารถรับความผันผวนจากผลตอบแทนได้ เพื่อให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า ดังนั้นหากคุณเลือกซื้อ LTF จะต้องยอมรับว่าเงินต้นคุณมีสิทธิ์หายไปได้ ส่วนประกันชีวิตเหมาะกับคนที่ต้องการซื้อความคุ้มครองชีวิตหรือถ้าเป็นประกันแบบสะสมทรัพย์ ก็เหมาะกับคนที่ไม่ชอบความเสี่ยง ไม่ชอบความผันผวน ไม่ได้ต้องการผลตอบแทนที่มากนัก และไม่ต้องการให้เงินต้นหายด้วย สามารถรอเวลาได้นานถึง 10 ปีขึ้นไป และไม่รีบใช้เงินครับ
สภาพคล่อง ถ้าหากคุณเลือกลดหย่อนด้วยการซื้อประกันชีวิต คุณต้องรอนานถึง 10 ปีขึ้นไป ถึงจะได้เงินทุนคืน แต่กรมธรรม์บางตัวก็มีเงินคืนระหว่างทาง เป็นกระแสเงินสดที่คุณนำมาใช้ได้ ส่วน LTF ระยะเวลาสั้นกว่า 7 ปีปฏิทินก็สามารถขายหน่วยลงทุนได้ ถ้าหากคุณเลือกซื้อ LTF ที่มีการจ่ายเงินปันผลด้วย ก็จะได้เงินปันผลในระหว่างทางมาใช้
ผลตอบแทน หากคุณซื้อประกันชีวิตคุณอาจจะไม่ได้ผลตอบแทนที่มากนัก แต่สิ่งที่ได้ก็คือความคุ้มครองและการลดหย่อนภาษีที่ทำให้คุณรู้สึกว่าคุ้ม ส่วนถ้าคุณเลือก LTF นั้น คุณจะมีโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงมากกว่าประกันชีวิต แต่ในทางกลับกัน การซื้อ LTF ก็มีโอกาสขาดทุนได้เช่นกัน ส่วนประกันชีวิตนั้นถ้าไม่เวนคืนกรมธรรม์ก่อนครบสัญญา อย่างไรก็ไม่ขาดทุนแน่นอน
พอร์ตการลงทุนของคุณ ก่อนที่คุณจะเลือกลดหย่อนภาษีด้วยประกันชีวิตหรือ LTF คุณควรต้องหันมาดูพอร์ตการลงทุนของคุณด้วยว่า ในตอนนี้คุณมีประกันชีวิตอยู่เท่าไหร่แล้ว และมีการลงทุนใน LTF เท่าไหร่แล้ว จึงค่อยตัดสินใจว่าคุณจะซื้ออะไรดีในปีนี้ ถ้าคนที่ไม่เคยทำประกันชีวิตมาก่อนเลย ก็น่าจะเป็นเวลาที่ดีที่คุณจะได้ตัดสินใจทำประกันชีวิตไปพร้อมกับการได้ลดหย่อนภาษีด้วย เช่นเดียวกับคนที่ไม่เคยลงทุนใน LTF หรือในตลาดหุ้นเลย ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีที่ได้เริ่มต้นลงทุนด้วย LTF เพราะ LTF นั้นมีผู้จัดการกองทุนที่ช่วยบริหารพอร์ตลงทุนให้คุณด้วย
เป็นอย่างไรกันบ้างกับข้อมูลเกี่ยวกับ ประกันชีวิตและการลงทุนใน LTF คุณผู้อ่านสามารถตัดสินใจเลือกกันได้หรือยังว่าจะลดหย่อนภาษีแบบไหนดี อย่างไรก็ตาม คุณก็สามารถแบ่งเงินซื้อทั้ง 2อย่างเฉลี่ยกันไปได้ เพราะมันก็เป็นการกระจายความเสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง แถมยังลดหย่อนภาษีได้เหมือนเดิมด้วยครับ