26 ตุลาคม 2559

ลดหย่อนภาษีด้วยอะไรดี? (ประกันชีวิต,ประกันบำนาญ,LTF,RMF)



เมื่อพูดถึง LTF, RMF ประกันชีวิต หรือประกันแบบบำนาญ คนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับเรื่องการลดภาษีมากกว่าที่จะซื้อเพื่อให้ได้ประโยชน์จากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของตัวลดหย่อนนั้นๆ

ถ้าคิดจะซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างเดียว ไม่ว่าจะซื้ออะไร ถ้าจ่ายเงินเท่ากัน ก็ช่วยให้ลดหย่อนภาษีได้เท่ากันเช่นกันครับ

แต่ถ้าคุณต้องการมากกว่าการลดหย่อนภาษี ต้องการที่จะซื้อเพื่อให้ได้ประโยชน์ ได้ความคุ้มค่า และตอบโจทย์ชีวิตคุณจริงๆ ก็จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของตัวลดหย่อนแต่ละประเภท สินค้านั้นตอบโจทย์อะไรเราบ้าง? หรือสินค้าลดหย่อนตัวไหนจำเป็นต่อชีวิตของคุณมากที่สุด?

การประกันชีวิตเป็นการการันตีเงินที่จะได้รับในอนาคต กรณีที่เราจากไปอย่างกระทันหัน แล้วคนที่เราอุปการะเลี้ยงดู (เช่น พ่อแม่ ลูก ภรรยา) อาจจะมีความเดือดร้อน(จากภาระค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียน หรือหนี้สินที่มีอยู่) ประกันชีวิตมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะได้ตอนเสียชีวิต (แบบเน้นความคุ้มครอง) หรือตอนยังมีชีวิต(แบบสะสมทรัพย์) แต่สิ่งที่สำคัญของการซื้อประกันชีวิต คือ “ทุนประกัน” ไม่ใช่ “ผลตอบแทน” เพราะถ้าคิดจะซื้อประกันโดยมอง “ผลตอบแทน” เป็นหลัก ไม่คุ้มครับ ซื้อ LTF หรือ RMF ผลตอบแทนสูงกว่าเห็นๆ ในระยะยาว

LTF คือกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง มีสัดส่วนการลงทุนแต่ในหุ้น 70-100% ทำให้มีความเสี่ยงและความผันผวนค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับการลงทุนเพื่อเป้าหมายทางการเงินระยะกลางถึงยาว ที่มีระยะเวลาอย่างน้อย 7 ปี ขึ้นไป เพราะไม่สามารถขายได้ก่อน 7 ปีปฏิทิน

RMF คือกองทุนรวมเพื่อคนที่ต้องการมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ ดังจะเห็นได้ว่าอยู่ในหมวดลดหย่อนภาษีเดียวกันกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือประกันแบบบำนาญ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเกษียณอายุตามปกติ คือเมื่ออายุ 55 หรือ 60 ปี เพราะตามเงื่อนไขแล้วหากลงทุนใน RMF จะขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุ 55 ปีเป็นต้นไป และลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี กองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ให้เลือกหลากหลายประเภท ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ในประเทศ ตราสารหนี้ต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ฯลฯ ดังนั้นจึงสามารถจัดพอร์ตและปรับพอร์ตการลงทุนได้ตลอดเวลาตามระดับความเสี่ยงที่รับได้

ประกันแบบบำนาญ เป็นทางเลือกหนึ่งในการเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ ช่วยให้มีเงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ โดยจะต้องออมอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ (เช่น 55, 60 หรือ 65 ปี แล้วแต่แบบ) แล้วมีการการันตีเงินที่จะได้รับหลังเกษียณทุกๆปี ไปจนกระทั่งอายุ 85 หรือ 90 ปี

เครื่องมือทางการเงินที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่แค่ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี แต่อยากจะให้มองเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการบริหารเงิน สร้างความมั่งคั่ง เสริมความมั่นคงของชีวิตและครอบครัวด้วยนะครับ

ตกลงเราควรซื้อสินค้าอะไรลดหย่อนภาษีดี? ประกันชีวิต, ประกันบำนาญ, LTF หรือ RMF ดี? หรือซื้อทุกอย่างเลย? แล้วควรจะแบ่งเงินไปซื้ออย่างละเท่าไหร่?

ผมแนะนำให้ตั้ง “เป้าหมายทางการเงิน” ของตัวเองดูก่อน ว่าต้องการอะไร? ใช้เงินเท่าไหร่? กรอบเวลาเท่าใด? แล้วค่อยมาคิดว่า เราจะจัดสรรเงินไปในแต่ละเป้าหมายเท่าไหร่ หลังจากนั้นจึงหาสินค้าทางการเงินที่ตอบโจทย์เป้าหมายนั้น จึงจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด

เราอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก มากกว่าแค่การซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างเดียว แต่เชื่อเถอะว่าการวางแผนการเงินทั้งระบบจะให้คุณได้ประโยชน์มากกว่าการลดหย่อนภาษีอย่างแน่นอน

7 ตุลาคม 2559

จัดสรรเงิน 5 ส่วน บริหารเป็นชีวิตดีแน่


1. รายรับ - บัญชีฉัน

ก็จะเป็นบัญชีสำหรับรายได้ที่เข้ามาจากทุกช่องทาง เปิดหลายแบงค์ได้แต่แนะนำให้จัดหมวดหมู่ชัดเจนครับ และสมุดบัญชีนี้ยังมีอีกหน้าที่สำคัญคือ แจกจ่าย คอยกระจายรายได้เข้าสู่บัญชีอื่นๆ ต่อไป จนเหลือเงินสุดท้ายที่ไม่ได้ถูกจัดหมวดหมู่ และนั่นแหละคือความฟิน นั่นคือเงินที่เราสามารถถลุงได้เต็มที่ อยากได้อะไรก็ซื้อเลย! แต่ภายใต้งบบัญชีฉันที่มีอยู่นะครับ

2. รายจ่าย

รวมช่องทางเงินไหลออกทุกประเภท ตั้งแต่ ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำมัน เงินการศึกษาบุตร ซึ่งตัวเราเองก็ควรจจะรู้ก่อนนะครับว่าชีวิตประจำวัน ประจำเดือน เราต้องเสียเงินให้เรื่องใดบ้าง ผมรวมถึงรายจ่ายเล็กน้อยที่ควรจะเผื่อสำรองไว้ด้วย คือหนี้ทุกประเภท เลือกได้ก็จ่ายก่อนเลยครับ อย่าพอกพูน ทั้งหมดก็เพื่อตัวเองเพื่อที่จะได้รู้ว่าเราเองเหลือเงินเท่าไหร่สำหรับบัญชีต่อๆ ไป

3. เงินออมเฉยๆ 

เมื่อหามาได้แล้วก็ต้องเก็บก่อนครับ เก็บมากเก็บน้อยก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและจุดประสงค์ของเรา แต่ผมแนะนำอยู่ที่ 10% ส่วนนี้ออมไว้เพื่อการเกษียณครับ จัดว่าเป็นกองกำลังสำคัญก่อนที่จะยกทัพออกไปลงทุนเลยล่ะครับ

4. เงินออมเผื่อฉุกเฉิน

ส่วนนี้เปรียบเสมือนกำลังพลสำรองที่มีเผื่อใช้ในยามวิกฤติที่เงินรัดตัวสุดๆ หรือรายจ่ายเข้ามากระทันหัน โดยเฉพาะกับรายจ่ายหนักอย่างค่ารักษาพยาบาล ค่าบำรุงรักษารถหรือบ้าน สำคัญมากนะครับ บอกได้เลยว่าก็เพราะเรื่องพวกนี้แหละที่สร้างหนี้ให้คนมานักต่อนักแล้ว

5. เงินลงทุน

ก่อนที่จะมองหาการลงทุนที่ผลตอบแทนดีๆ ผมแนะนำให้เฟ้นหาการลงทุนที่จะช่วยสร้างความมั่นคง อบอุ่นหัวใจ ให้ได้ก่อนนะครับ แล้วค่อยปันเงินผลตอบแทนกลับเข้ามาช่องทางที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทบต้นไปเรื่อยๆ เพิ่มช่องทางไปเรื่อยๆ จากง่ายสู่ยาก เน้นความเป็นอยู่มากกว่าความร่ำรวย เลือกที่เหมาะกับตัวเรา และ ให้โฟกัสที่ภาพระยะยาว 

----------------------------

ทำความรู้จักกับอาชีพนักวางแผนการเงิน




ขอเกาะกระแสดราม่าตามกระทู้ด้านล่างนิดนึงนะครับ จะมาใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายว่า ตกลงแล้ว "นักวางแผนการเงิน (Financial Planner) ทำอะไรให้เรากันแน่?"

นักวางแผนทางการเงิน ก็คือ คนที่จะคอยออกแบบ ให้คำแนะนำเพื่อใช้ในการวางกลยุทธ์เรื่องเงินๆ ทองๆ ให้กับคุณ

เพื่อให้คุณบรรลุเป้าหมายชีวิตในระยะยาวบนส่วนที่ต้องใช้เงิน!

คำว่า "วางกลยุทธ์" เท่ากับว่า "ช่วยคิดค้นวิธีการ" ต้องไปยังไง? ด้วยวิธีไหน? ต้องวางเงินในเครื่องไม้เครื่องมืออันไหนนั่นแหละครับ

แล้วเรื่องเงินล่ะครอบคลุมอะไรบ้าง? 
- การบริหารรายรับรายจ่าย
- การบริหารจัดการหนี้สิน
- การวางแผนทำประกัน
- การวางแผนการลงทุน
- การวางแผนภาษี 
- และการวางแผนมรดกหรือส่งมอบทรัพย์สิน

สิ่งที่นักวางแผนการเงิน(จริงๆ)ทำก็คือ "การนั่งคุยกับลูกค้าเหมือนเป็นเพื่อน" เป็นผู้ช่วยส่วนตัว ลูกค้ามองเป้าหมายในชีวิตไว้อย่างไร สิ่งที่อยากได้ อยากมี หรืออยากทำคืออะไร โดยเราจะช่วยเรียงลำดับความสำคัญของเป้าหมาย 1-5 เพื่อใช้สร้างสมมติฐานต่างๆ ในชีวิต ว่ามีโอกาสจะเป็นไปได้จริงไหม แต่ละปีจะเกิดอะไรบ้าง

เป้าหมายชีวิต ก็อย่างเช่น อยากมีบ้าน อยากมีรถ อยากเกษียณเร็ว แล้วมันก็จะเข้ามาที่คำถามที่ว่า ไลฟ์สไตล์หลังเกษียณจะเป็นยังไง หลังเกษียณต้องการมีเงินใช้เดือนละเท่าไหร่ อยากเปลี่ยนรถทุกกี่ปี อยากมีลูกกี่คน มีลูกแล้วจะให้ลูกเรียนที่ไหน ให้เรียนถึงระดับใด ให้เรียนในไทยหรือต่างประเทศ ต่างประเทศจะเป็นประเทศไหน อเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ หรือออสเตรเลีย หรือให้เรียนในประเทศ จะเรียนหลักสูตรไหนรัฐบาล เอกชนหรือนานาชาติ ลูกเรียนจบแล้วอยากมีเงินก้อนให้ลูกทำธุรกิจ ลูกจะแต่งงานต้องใช้เงินค่าสินสอดเท่าไหร่ ,.. เยอะเอาเรื่องเลยล่ะครับ

แน่นอนครับว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต แต่ถ้าหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณอยากได้มันต้องใช้เงิน เราทุกคนก็จำเป็นต้องรู้เรื่องเงิน วางแผนเรื่องเงิน ครับ

สิ่งสำคัญที่นักวางแผนการเงินต้องรู้ ก็คือ "ชีวิตตอนนี้ของคุณอยู่ที่ตรงไหน?" เพื่อจัดทัพการเงินให้ถูกต้อง อยากจะรบให้ชนะมันก็ต้องมีแผนที่ดี และก็ต้องวางแผนกันตั้งแต่ต้นครับ

สิ่งที่พวกเราจำเป็นต้องรู้ต่อมาก็คือ ทุกวันทุกเดือนคุณมีรายได้เข้ามาเท่าไหร่? และเหลือเท่าไหร่์

นักวางแผนทางการเงินหรือที่ปรึกษาทางการเงิน(ตัวจริงๆ) ไม่ได้มาเพื่อ“ขายของ”นะครับ เพราะหน้าที่เค้าคือให้คำแนะนำ พวกเราจะโฟกัสไปที่ “เป้าหมาย” ของคุณเป็นหลัก นั่นหมายความว่ากว่าเราจะแนะนำให้คุณลงทุนกับอะไรสักอย่างหนึ่งเนี่ย ต้องใช้เวลาพูดคุยและขบคิดกันสักพักเลยล่ะครับ

ถ้าไม่มีการวางกลยุทธ์ที่ชัดเจน ไม่มีการทำแผนที่ถูกต้อง ไม่มีการวางแผนที่ครอบคลุม รวมถึงไม่มีแผนฉุกเฉิน ก็ไม่ควรจะเรียกอาชีพนั้นว่าเป็น “ที่ปรึกษาการเงิน” หรือ “นักวางแผนการเงิน” นะครับ

ที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการ “ส่งเสริม” ให้คนซื้อสินค้าทางการเงิน โดยนำคำว่า วางแผน เข้ามาต้นประโยค เช่น วางแผนการเงินด้วยประกันชีวิต หรือ วางแผนการเงินด้วยการลงทุนในกองทุนรวม เป็นต้น

เราจำเป็นต้องใช้บริการนักวางแผนการเงินไหม?

มันก็ขึ้นอยู่ที่ความต้องการของคุณอีกนั่นแหละครับ การมีนักวางแผนการเงินก็เหมือนมีผู้ช่วยที่จะเข้ามาตรวจสอบอีกชั้น ตบหน้าตบหลังเพื่อให้เป้าหมายในส่วนที่ต้องใช้เงินในระยะยาวของคุณเข้าที่

แล้วนักวางแผนการเงินหวังอะไรจากเรา?

ก็รายได้นั่นแหละครับ ก็แหมเราก็คืออาชีพๆ หนึ่งนั่นแหละเนอะ หลักๆ เราทีรายได้สองทาง ดังนี้ครับ

1) ค่าบริการที่ปรึกษาและจัดทำแผนทางการเงิน 
2) ค่าคอมมิชชั่นจากสินค้าทางการเงินที่คุณซื้อผ่านเรา ซึ่งก็คือจากสินค้า “กลุ่มประกัน” และ “สินค้าการลงทุน”

เพื่อให้สะดวกต่อลูกค้า พวกเราก็จำเป็นต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนขายประกัน และตัวแทนขายสินค้าการลงทุน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการหาสินค้าให้ลูกค้า เพราะพอคุยเรื่องแผนที่ต้องใช้กันเสร็จสัพเรียบร้อย ก็จะได้ฝากวานให้เราจัดการได้ต่อทันที ไม่ต้องย้ายไปย้ายมายังไงล่ะครับ 

ยิ่งไปกว่านั้นนักวางแผนการเงินอย่างเราจะมี “ใบอนุญาต” หรือ “Single License (SL)” กับ “Investment Planner (IP) License” โดย Single License มีไว้เพื่อ “แนะนำ” สินค้าหรือหลักทรัพย์เป็นรายตัว แต่ถ้าจะวางแผน จำเป็นที่จะต้องมี IP License และอาจจะดูจากคุณวุฒิ CFP ประกอบซึ่งเป็นคุณวุฒิด้านการวางแผนการเงินหลักของไทย เป็นคุณวุฒิที่ได้รับการรับรองในกฎระเบียบต่างๆ จาก สำนักงาน กลต. และได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครับ

หลายคนอาจจะมองว่าอาชีพนักวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ถือว่ามีมานานแล้วครับในต่างประเทศ และแนวโน้มการให้บริการประเภทนี้กำลังขยายตัวมากขึ้น ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับบางคนที่ต้องการหามืออาชีพมาเป็นตัวช่วยในการดูแลเงินแทนที่จะต้องมานั่งคิดเองนั่นแหละครับ