25 เมษายน 2561

กำหนดเป้าหมายทางการเงินก่อน แล้วค่อยหาที่อยู่ของเงินให้เหมาะสม



แนวความคิดการวางแผนด้านการเงิน
ต้องมีเป้าหมายชีวิต แล้วมากำหนดเป้าหมายทางการเงินให้สอดคล้องกัน

 “ เป้าหมายทางการเงิน “ เป็นสิ่งที่ทุกคนวาดฝันไว้ เช่น อยากมีบ้านหลังโตๆ อยากได้รถ อยากมีเงินใช้เยอะๆ หลังเกษียณอายุ เป็นต้น ซึ่งหลายๆ คนสามารถทำตามฝันที่วางไว้ได้สำเร็จอย่างง่ายดาย บางคนต้องใช้ความพยายามอย่างมากจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้  หรือบางคนสามารถทำตามความตั้งใจไว้ได้ โดยที่ไม่รู้เลยว่า สิ่งนั้นคือ เป้าหมายทางการเงิน การวางแผนทางการเงินเป็นตัวช่วยที่ทำให้เป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ประสบผลสำเร็จได้เร็วขึ้น ดังนั้น เรามาเรียนรู้ถึงวิธีที่จะช่วยให้การวางแผนการเงิน เพื่อให้เป้าหมายทางการเงินประสบความสำเร็จได้

กำหนดเป้าหมายทางการเงิน

 ดั่งสำนวนที่ว่า “เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง” สำหรับการตั้งเป้าหมายทางการเงิน หากมีการตั้งเป้าหมายที่ดี และเหมาะสมแล้ว ความเป็นไปได้ที่เป้าหมายทางการเงินนั้นจะประสบผลสำเร็จก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเกินความสามารถ ลักษณะของเป้าหมายทางการเงินที่ดีนั้น ประกอบไปด้วย 5 ปัจจัย หรือที่เราเรียกกันว่าการตั้งเป้าหมายทางการเงินที่ดีตามหลัก SMART ได้แก่
      - S pecific : ชัดเจน ว่าต้องการอะไร
      - M easurable : วัดผลได้ เพื่อให้รู้ว่าเป้าหมายใกล้สำเร็จหรือไม่ ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบตัวเงิน 
      - A ccountable : รู้ถึงแนวทางว่าทำอย่างไร เพื่อให้เป้าหมายนี้สำเร็จได้
      - R ealistic : เป้าหมายควรท้าทาย แต่สามารถทำได้จริง
      - T ime Bound : มีระยะเวลากำหนดแน่นอนว่า ต้องใช้เวลาเท่าไรจึงจะสำเร็จผลได้

      ตัวอย่าง เป้าหมายทางการเงินที่ดี คือ นายมั่งมี ต้องการมีเงินเก็บ จำนวน 1 ล้านบาท โดยตั้งใจจะออมเงินจำนวน 16,700 บาท เป็นระยะเวลา 5 ปี เป็นต้น

      เป้าหมายทางการเงิน สามารถแบ่งแบบง่ายๆ ตามระยะเวลาได้ 3 แบบ คือ เป้าหมายระยะสั้น เป้าหมายระยะกลาง และเป้าหมายระยะยาว ซึ่งเป้าหมายในแต่ละช่วง จะมีความสำคัญมากน้อยแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการทางการเงินของแต่ละบุคคล โดยเป้าหมายทางการเงินในแต่ละช่วงอาจเป็นดังนี้

      1. เป้าหมายทางการเงินระยะสั้น คือ เป้าหมายทางการเงินที่ต้องการทำให้สำเร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี เช่น การศึกษาต่อปริญญาโท ซื้อรถยนต์ หรือสินค้าต่างๆ ที่มีมูลค่าสูง หรือท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น

      2. เป้าหมายทางการเงินระยะกลาง คือ เป้าหมายทางการเงินที่ต้องการทำให้สำเร็จภายในระยะเวลามากกว่า 3 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี เช่น การดาวน์เพื่อซื้อบ้าน หรือคอนโดมิเนียม การใช้จ่ายในงานแต่งงาน เป็นต้น

      3. เป้าหมายทางการเงินระยะยาว คือ เป้าหมายทางการเงินที่ต้องการทำให้สำเร็จภายในระยะเวลามากกว่า 5 ปี เช่น การเกษียณอายุ การศึกษาบุตร เป็นต้
เมื่อกำหนดเป้าหมายทางการเงินแล้วจึงหาที่อยูู่ของเงินให้เหมาะสมกับเป้าหมาย ซึ่งจะมีเรื่องเวลา ผลตอบแทน ความเสี่ยง และสภาพคล่อง เข้ามาเกี่ยวข้อง เงินอยู่แต่ละที่จึงทำหน้าที่แตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายชีวิตอย่างมั่งคั่งและมั่นคง


การนำเงินออมเพื่อเป้าหมายการเงินนั้น ต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ เช่น ระยะเวลาการลงทุน ระดับความเสี่ยงของการลงทุนที่ยอมรับได้ ความสำคัญของเป้าหมาย เป็นต้น โดยอาจเลือกวางเงินไว้ตามระยะเวลาของเป้าหมายทางการเงิน ซึ่งผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เหมาะสม มีดังนี้
      1. เป้าหมายทางการเงินระยะสั้น ควรลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีสภาพคล่องสูง และมีความเสี่ยงต่ำ เพราะมีระยะเวลาในการลงทุนสั้น จึงไม่สามารถแบกรับความเสี่ยงได้มากนัก หากประสบผลขาดทุนอาจทำให้เป้าหมายทางการเงินที่วางไว้ไม่ประสบผลสำเร็จ ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เช่น เงินฝาก กองทุนรวมตลาดเงิน กองทุนรวมตราสารหนี้ เป็นต้น
      2. เป้าหมายทางการเงินระยะกลาง สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีสภาพคล่องน้อยกว่า เป้าหมายทางการเงินระยะสั้น เนื่องจากระยะเวลาในการออมเงินเพื่อเป้าหมายนานยิ่งขึ้น และสามารถลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงจากการลงทุนได้มากขึ้น โดยสามารถเลือกผลิตภัณฑ์ตามระดับความเสี่ยงที่สามารถรับได้ ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เช่น กองทุนรวมผสม (ตราสารหนี้ และหุ้น) กองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น
      3. เป้าหมายทางการเงินระยะยาว สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินได้หลากหลายมากที่สุด เพราะไม่ต้องการสภาพคล่อง และมีระยะเวลาในการลงทุนที่นาน โดยการเลือกลงทุนสำหรับเป้าหมายทางการเงินนี้ หากนำสิทธิประโยชน์ทางภาษีมาร่วมคำนึงจะทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม เช่น กองทุนรวมผสม (ตราสารหนี้ และหุ้น) กองทุนรวมหุ้น กองทุนลดหย่อนภาษี (LTF/RMF) กองทุนรวมที่ลงทุนในสินค้าโภคภัณฑ์ รวมไปถึงประกันชีวิต 


10 เมษายน 2561

ออมแบบ “การันตี” เพื่อการเกษียณกันดีกว่า


เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าสิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดในการออมเงินคือออมให้ชนะเงินเฟ้อ เพราะการถือเงินสดไว้เฉยๆ สุดท้ายมูลค่าเงินก็จะถูกเงินเฟ้อค่อยกัดกินไปเรื่อง ดังนั้นโดยคร่าวๆเราต้องการสร้างผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวให้ได้มากกว่า 3.5-5% ต่อปี ดังนั้นออมแบบปลอดภัยอย่างเดียวไม่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายแน่นอน ต้องมีการผสมผสานกันกับพอร์ตที่เป็นตราสารทุนด้วยเพื่อให้ผลตอบแทนเติบโต แต่ยังไงในพอร์ตของการออมก็จำเป็นต้องมีการออมที่เป็นการการันตีผลตอบแทนอยู่บ้างเหมือนกัน เพราะคำว่า “การันตี” ก็ทำให้เรารู้ว่าถึงแม้วันที่แย่ที่สุด พอร์ตที่การันตีก็เป็นเหมือนปราการด่านสุดท้ายที่ช่วยสร้างผลตอบแทนให้กับเราได้
หากพูดถึงการออมหรือการลงทุนที่เป็นแบบการันตี หรือความเสี่ยงต่ำ หลายคนมักจะนึกถึงเงินฝากธนาคารเป็นหลัก แต่ความจริงแล้ว การออมแบบความเสี่ยงต่ำยังมีเครื่องมืออยู่อีกหลายตัวที่ช่วยเราได้ ซึ่งแต่ละตัวก็มีข้อดีข้อด้อยต่างกันไปครับ
ตราสารหนี้หรือกองทุนตราสารหนี้ ตราสารหนี้ การลงทุนด้วยวิธีนี้เป็นสิ่งที่เห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด และเป็นการลงทุนที่ให้กระแสเงินสดสม่ำเสมอในรูปแบบของดอกเบี้ย ปกติหากพูดถึงตราสารหนี้ คนที่เกี่ยวข้องมักจะเป็นสถาบันการเงินต่างๆที่เข้าไปทำการถือตราสารหนี้ เพราะตลาดตราสารหนี้เป็นตลาดที่ซื้อขายกันในวงเงินที่สูง ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีสถาบันการเงินสร้งผลิตภัณฑ์ที่เรียกว่ากองทุนตราสารหนี้ขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการออมทรัพย์ของนักลงทุนรายย่อย ด้วยการเป็นผู้จัดการลงทุนให้กับเจ้าของเงินในตราสารหนี้ต่างๆ รูปแบบการรับผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้มีทั้งสองแบบคือแบบมีกระแสเงินสดจากเงินปันผลของกองทุน นึกภาพง่ายๆว่ากองทุนลงทุนในตราสารหนี้เมื่อตราสารหนี้ได้รับดอกเบี้ยมา กองทุนก็นำเงินที่ได้รับมาปันผลต่อให้กับผู้ถือหน่วย แต่หากเป็นกองทุนแบบที่ไม่ได้ปันผล เวลาที่ได้รับดอกเบี้ยมา ก็จะทำให้กองทุนมีมูลค่า NAV สูงขึ้นเรื่อยๆ เราก็ขายคืนกองทุนนี้แล้วก็จะได้เงินต้นรวมกับผลตอบแทนออกมาครับ
อสังหาริมทรัพย์ให้เช่าหรือกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ พูดถึงการลงทุนแบบนี้ ถือว่าเป็นยอดปรารถนาของนักลงทุนหลายๆคนครับ เพราะว่าในระยะยาว อสังหาริมทรัพย์ล้วนมีแต่ราคาขึ้นเรื่อยๆ แถมการปล่อยให้เช่าก็เป็นการสร้างกระแสเงินสดที่แน่นอน คล้ายๆกับการรับดอกเบี้ยเช่นเดียวกัน แถมยังสามารถขึ้นค่าเช่าได้ด้วยเมื่อเวลาผ่านไป แต่การลงทุนแบบนี้มีข้อหนึ่งที่ต้องระวังก็คืออสังหาฯมักจะต้องใช้เงินลงทุนสูง ซึ่งมักตามมาด้วยการก่อหนี้ และต้องมีดอกเบี้ยเกิดขึ้นแน่นอน การลงทุนในแบบนี้จะต้องใช้ความระมัดระวังและศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุนค่อนข้างมาก หากผิดพลาดไปจะแก้ไขก็ไม่ง่าย เพราะว่าการจะขายต่อก็มีข้อจำกัดเรื่องของสภาพคล่อง รวมถึงค่าธรรมเนียมในการเปลี่ยนมือเจ้าของด้วย บางคนที่เห็นความยุ่งยากนี้ก็อาจจะมีทางเลือกอีกทางหนึ่งคือการลงทุนผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ได้ ซึ่งมีผู้จัดการทุกอย่างให้เสร็จ เพียงแค่จ่ายเงินลงทุน แล้วก็รอรับเงินปันผลจากกองทุนได้เลยครับ
เครื่องมือสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในคราวนี้ก็คือ ประกันสะสมทรัพย์หรือบำนาญ การออมในรูปแบบนี้แม้ว่าจะให้ผลตอบแทนเท่ากันหรืออาจจะต่ำกว่าในสองรูปแบบข้างต้น แต่ก็ถือว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะว่าการออมผ่านประกันสะสมทรัพย์ เป็นเพียงสินค้าทางการเงินไม่กี่แบบที่ “การันตี” ผลตอบแทนการออม ไม่ว่าสภาวะผลตอบแทนอื่นๆจะเป็นเท่าไหร่ แต่ประกันสะสมทรัพย์ให้เราตามสัญญาไม่เปลี่ยนแปลงแน่นอน นอกจากนี้ผู้ลงทุนยังมีโอกาสได้ประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีด้วย ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนเฉลี่ยแล้วอาจจะสูงได้ถึง 4-6% ต่อปีเลยทีเดียว และที่สำคัญที่สุดคือการทำประกันแบบสะสมทรัพย์เป็นสินทรัพย์ที่แปรเป็นเงินสดได้เร็วที่สุดยามเจ้าของจากไป เมื่อเทียบกับสองข้อข้างต้นที่ต้องเข้ากระบวนการจัดสรรมรดกให้แก่ทายาทซึ่งอาจจะใช้เวลาเป็นเดือนหรือเป็นปีเลยทีเดียว แต่ประกันนั้นสามารถจ่ายเงินสินไหมให้กับทายาทหรือผู้รับประโยชน์ในกรมธรรม์ได้โดยทันที
ถ้าถามว่าการออมการลงทุนทั้งสามแบบ แบบไหนดีที่สุด บอกแบบพระเอกได้เลยครับว่าไม่สามารถฟันธงได้ครับ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าชอบแนวไหนมากกว่ากัน แต่ความเห็นผมเห็นว่าไม่มีผลิตภัณฑ์ไหนที่ดีที่สุดในตัวเองได้สมบูรณ์ครับ แผนการเงินที่ดีต้องมีองค์ประกอบหลายๆส่วนมาร่วมด้วยช่วยกันครับ เหมือนกับทีมฟุตบอลที่ต้องมีหลากหลายหน้าที่ผสมผสานกันไป เราจึงจะได้พอร์ตการออมการลงทุนที่สามารถสร้างประโยชน์ไปพร้อมกับผลตอบแทนได้ทุกๆสถานการณ์ครับ