19 สิงหาคม 2562

4ขั้นตอนวางแผนการเงินและเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม

4ขั้นตอนวางแผนการเงินและเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสม


ด่านแรกของการวางแผนการเงิน คือ
การสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการวางแผนบริหารรายรับ - รายจ่าย และหนี้สิน เนื่องจากการที่เราจะเริ่มมีความมั่งคั่งได้ เราก็ต้องทำงาน เมื่อเราทำงาน เราก็มีรายรับ ขณะที่เรามีรายรับ เราก็มีรายจ่ายที่ต้องใช้ในการดำเนินชีวิต และในการดำเนินชีวิตบางครั้งเราก็อาจจะต้องใช้ "เครดิต" มาช่วยในการบริหารกระแสเงินสด เพื่อให้เรามีสินทรัพย์ที่เราต้องการในวันนี้ (เช่น บ้าน รถ หรือสิ่งของอื่นๆ) เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการ รายรับ / รายจ่าย / หนี้สิน อย่างมีประสิทธิภาพ ให้มี "เงินเหลือ" (Surplus) เพื่อเป็นการออมไว้ใช้ในอนาคตยามที่เราไม่มีรายได้แล้ว (เช่น ตอนเกษียณ) หรือเอาไว้เป็นเงินสำรองเผื่อเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ เป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นรากฐานสำคัญที่สุดในทางการเงิน คนเราจะมีความมั่งได้ ต้องเริ่มจากนิสัยทางการเงิน ในการบริหารรายรับ รายจ่ายที่ดีก่อนครับ



สินค้าทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับการบริหารเงินในขั้นตอนนี้ :

1) บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ = มีสภาพคล่องสูง สามารถฝากเข้าถอนออกได้ตลอดเวลา แต่ผลตอบแทนต่ำ จึงมีไว้เป็นที่เก็บเงินสำหรับเงินที่ต้องใช้จ่ายประจำ มีเงินเข้าเงินออกสม่ำเสมอ เช่น ไว้จับจ่ายใช้สอย เป็นค่ากินอยู่ในแต่ละเดือนเท่านั้นพอ (ไม่ควรไว้นานกว่านั้น เพราะผลตอบแทนต่ำ) หรืออาจไว้สำหรับเป็นเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินที่ต้องใช้เงินทันด่วน (ควรมีไว้ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนพอ)

2) บัญชีเงินฝากประจำ / เงินฝากสหกรณ์ / เงินฝากอื่นๆ / ตั๋วเงินคลัง / พันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น /ตราสารหนี้ระยะสั้น = มีสภาพคล่องต่ำกว่าออมทรัพย์ (ถูกบังคับให้ต้องฝากต่อเนื่อง เช่น ตั้งแต่ 1-3 ปี) แต่ผลตอบแทนสูงกว่า จึงเหมาะกับการเป็นที่พักเงินที่เหลือจากการใช้จ่ายประจำ เพื่อเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน หรือเก็บออมไว้สำหรับเป้าหมายระยะสั้น-กลาง ภายใน 1-3 ปี (เช่น เก็บเงินแต่งงาน, ดาวน์บ้าน/รถ, ท่องเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น)

3) กองทุนรวมตลาดเงิน = เป็นกองทุนที่นำเงินไปลงทุนในเงินฝากหรือพันธบัตรระยะสั้นหลายๆที่ จุดเด่นคือ มีสภาพคล่องสูงกว่าเงินฝากประจำ สามารถเอาเงินเข้าออกบัญชีกองทุนได้ตลอด (ใช้เวลารอ 1 วันหลังส่งคำสั่งซื้อหรือขายกองทุน) แต่มีอัตราผลตอบแทนพอๆกัน (ประมาณ 1.5-2% ต่อปี) จึงเหมาะสำหรับไว้เป็นที่พักเงินระยะสั้นที่เหลือจากการใช้จ่าย แทนที่บัญชีออมทรัพย์เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่า หรือใช้เป็น "ศูนย์กลางในการบริหารเงินระหว่างบัญชีธนาคารต่างๆ" ก็ได้ เพราะบางกอง สามารถผูกได้หลายบัญชีธนาคาร (ไม่เฉพาะธนาคารที่เป็นเจ้าของกองทุน) สามารถส่งคำสั่งซื้อกองทุน จากบัญชีธนาคารไหนๆ แล้วส่งคำสั่งขายกองทุน เพื่อเอาเงินเข้าบัญชีธนาคารไหนๆ ก็ได้ (สะดวกกว่าการไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็มธนาคารหนึ่ง แล้วเดินไปฝากอีกธนาคารหนึ่ง เพราะสามารถทำผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้เลย)

4) ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ระยะสั้น-กลาง (ระยะเวลาสัญญา3-7 ปี)= เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อบังคับให้เราออมเงิน จะได้เก็บเงินให้อยู่เป็นเงินก้อนใหญ่ โดยมีการคุ้มครองชีวิตพ่วงด้วย นั่นเอง

5) บัตรเครดิต = เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการบริหารกระแสเงินสดเพื่อความสะดวก ในการซื้อสินค้าและบริการ โดยที่เราไม่จำเป็นต้องพกเงินเยอะๆไปจ่ายเป็นก้อนเดียว แต่สามารถจ่ายทีหลัง หรือทยอยจ่ายได้ (เช่นพวก ผ่อน 0%) ทำให้เราไม่ต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ในคราวเดียว เราจึงสามารถนำเงินไปบริหารจัดการเรื่องอื่นๆได้ แล้วสามารถทยอยจ่ายได้ในอนาคต ***แต่สำคัญว่า เราต้องมีเงินเพียงพอที่จะซื้อสินค้านั้นแล้วเท่านั้น เพื่อให้แน่ใจว่าเรามีเงินจ่ายคืนชัวร์ๆ ไม่โดนชาร์จดอกเบี้ยสูงๆ (เฉลี่ย 20% ต่อปี) นอกจากนั้น ก็มีไว้เพื่อใช้สิทธิพิเศษ หรือโปรโมชั่นลดราคา หรือสะสมคะแนนในการใช้จ่ายต่างๆอีกด้วย

6) การใช้สินเชื่อเงินกู้ (O/D / P/N)= เป็นการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเพื่อมาใช้บริหารสภาพคล่องในธุรกิจ หรือลงทุนระยะยาว หรือหากเป็นบุคคลธรรมดาก็ใช้เพื่อกู้ซื้อสินทรัพย์ที่มีราคาสูง เช่น บ้าน รถ ตามความจำเป็น ข้อสำคัญคือ ต้องใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ และต้องมีศักยภาพในการผ่อนชำระที่เหมาะสม

การปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection)

เมื่อเราบริหารรับ / รายจ่าย / หนี้สินได้ดี จนมีเงินเหลือ สะสมมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว เราก็ควรจะปกป้องคุ้มครองเงินเหลือที่เราหามาได้ซะก่อน เพราะชีวิตมีความไม่แน่นอน หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น เจ็บไข้ได้ป่วยหนักๆหรือเป็นโรคร้ายแรง, ประสบอุบัติเหตุ ซึ่งต้องเสียค่ารักษาแพงๆ, เป็นคนทุพพลภาพ ทำงานไม่ได้ไม่มีรายได้ แต่ยังมีชีวิต ยังมีรายจ่าย หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต ทำให้คนที่อยู่ข้างหลังขาดคนหารายได้มาเลี้ยงดู รวมไปถึงความสูญเสียในทรัพย์สินต่างๆ เช่น รถ บ้าน ธุรกิจ จากอุบัติเหตุ (รถชน ไฟไหม้ น้ำท่วม ฯลฯ) เราจึงต้องถ่ายโอนความเสี่ยงเหล่านี้ให้คนอื่น โดยการจ่ายเบี้ยประกันเล็กน้อย แลกกับวงเงินความคุ้มครองที่สูง ซึ่งก็คือ "การทำประกัน" นั่นเอง

สินค้าทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับการบริหารเงินในขั้นตอนนี้ :

1) ประกันชีวิตแบบเน้นความคุ้มครองชีวิต (แบบตลอดชีพ หรือแบบชั่วระยะเวลา) = ไว้สำหรับปกป้องความเสี่ยง ไม่ให้คนข้างหลังเดือดร้อน หากเราจากไปอย่างกะทันหัน

2) ประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ (รวมถึงประกันโรคร้ายแรงและทุพพลภาพ)= ไว้สำหรับคุ้มครองค่ารักษาแพงๆ มีเงินชดเชย รองรับกรณีเป็นโรคร้ายแรงหรือทุพพลภาพ

3) ประกันภัย (ประกันทรัพย์สิน) = มีไว้คุ้มครองความเสียหายของทรัพย์สิน ให้เราได้รับเงินชดเชย



เพิ่มพูนความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation)

เมื่อเรามีเงินเหลือ และเงินเหลือได้รับการปกป้องเป็นอย่างดีแล้ว เราก็นำเงินที่เหลือไปต่อยอด เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่งได้อย่างสบายใจ เพื่อให้เงินที่เรามีเติบโตเป็นก้อนใหญ่ไว้ใช้อย่างเพียงพอในวันที่เราไม่มีรายได้ในอนาคต (ตอนเกษียณ) ซึ่งก็คือ "การลงทุน" นั่นเอง นอกจากนั้น ระหว่างทางที่เราทำงาน มีรายได้ เราก็ต้องเสียภาษี จึงต้องมี "การวางแผนภาษี" เพื่อดึงรายได้ของเรากลับมาอย่างถูกต้องเหมาะสม ทำให้เรามีเงินเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สินค้าทางการเงินที่เหมาะสมสำหรับการบริหารเงินในขั้นตอนนี้ :

1) หุ้นสามัญ / ตราสารทุน (Equity) = ผู้ถือมีฐานะเป็น "เจ้าของ" บริษัท ได้รับผลตอบแทนเป็นราคาหุ้นที่สูงขึ้น (Capital Gain) และเงินปันผล (Dividend) ที่ไม่แน่นอน (ขึ้นอยู่กับนโยบายและผลประกอบการของบริษัท)

2) หุ้นกู้ / ตราสารหนี้ระยะกลาง-ยาว / พันธบัตรรัฐบาลระยะยาว (Bond / Debentures) = ผู้ถือมีฐานะเป็น "เจ้าหนี้" ของผู้ที่ออก ได้รับผลตอบแทนเป็นราคาหุ้นที่สูงขึ้น (Capital Gain) หากมีการซื้อขายกันในตลาด และดอกเบี้ย (Interest) ที่จ่ายคงที่ แน่นอน

3) อสังหาริมทรัพย์ (Property)= ลงทุนเพื่อหวังรายได้จาก "ค่าเช่า" และ/หรือ ราคาที่เพิ่มสูงขึ้น

4) ทองคำ (Gold) = หวังผลกำไรจากราคาที่สูงขึ้น หรือถือไว้ เพื่อรักษามูลค่าของเงินลงทุน

5) อนุพันธ์ (Derivatives) เช่น Futures, Options = ใช้เพื่อบริหารความเสี่ยงในการลงทุน ด้วยการทำสัญญาว่าจะซื้อหรือขายไว้ล่วงหน้า หรือใช้เป็น "คานงัด" (Leverage) เพื่อเพิ่มอัตราผลตอบแทนให้สูงขึ้น ด้วยเงินลงทุนที่น้อยลงกว่าการไปลงทุนในหุ้นนั้นโดยตรง

6) อัตราแลกเปลี่ยน (Forex) = หวังผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนไป

7) กองทุนรวม (Mutual Fund)= หวังผลเหมือนกับการไปลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆเองโดยตรง แต่มีความสะดวกกว่า เพราะไม่ต้องคัดเลือกสินทรัพย์เอง ไม่ต้องบริหารจัดการเอง หากเป็น RMF / LTF ก็จะได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีด้วย

😎 กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) หรือกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำหรับราชการ = เป็นเครื่องมือในการลงทุนอัตโนมัติจากบริษัทที่ทำงาน คาดหวังผลลัพธ์เช่นเดียวกับการลงทุนในกองทุนรวมทั่วไป และได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีด้วย

9) ประกันชีวิตแบบออมทรัพย์ระยะยาว (แบบสะสมทรัพย์ ระยะยาว 7 ปีขึ้นไป, แบบบำนาญ) = ใช้เพื่อต้องการการันตีเงินส่วนที่จำเป็นในอนาคต ผลตอบแทนต่ำ แต่มีความแน่นอน และได้สิทธิ์ในการลดหย่อนภาษี

ส่วนจะเลือกลงทุนในอะไร ก็แล้วแต่ความชอบ ความต้องการ ความรู้ ความถนัด หรือลงทุนในหลายๆสินทรัพย์ ตามสัดส่วนที่เหมาะสมกับพอร์ตการลงทุนที่วางแผนไว้ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ให้ได้ผลตอบแทนที่ต้องการ ในความเสี่ยงที่รับได้ ก็ได้ครับ



การส่งมอบความมั่งคั่ง” (Wealth Distribution) เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้
ในการบริหารจัดการความมั่งคั่ง เพราะจะช่วยให้สิ่งที่คุณสร้างสมและเก็บรักษามาตลอดชีวิตถูกจัดสรรให้แก่คนที่คุณรัก ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว ญาติพี่น้อง หรือแม้กระทั่งการแบ่งปันให้กับผู้อื่นตามที่คุณต้องการ โดยหัวใจหลักของการส่งมอบความมั่งคั่งก็คือ “การวางแผนมรดก” ที่จะช่วยส่งผ่านความมั่งคั่งร่ำรวยจากรุ่นสู่รุ่น แถมยังช่วยให้คุณมั่นใจได้ว่าทรัพย์สมบัติทั้งหมดจะถูกสืบทอดไปตามเจตนารมณ์ของคุณ
หลังจากที่คุณได้สร้างและสะสมความมั่งคั่งของตนเองมาระดับหนึ่ง ก็ถึงเวลาคิดและถามตัวเองว่าตอนนี้คุณมีทรัพย์สินอะไรบ้าง? แต่ละอย่างมีมูลค่าเท่าไหร่? หรือหากวันนี้คุณเป็นอะไรไป ทายาทจะได้รับมรดกอย่างที่คุณอยากยกให้หรือไม่?
เป็นไปได้ว่า...ถ้าคุณไม่ได้มีการวางแผนและตระเตรียมทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่คุณยังมีชีวิตอยู่ ทรัพย์สมบัติของคุณอาจตกไปอยู่กับคนที่คุณไม่ได้ตั้งใจจะมอบให้ก็เป็นได้ ตัวอย่างก็มีให้เห็นตามข่าวหน้าหนึ่งอยู่บ่อยๆ... ญาติพี่น้องทะเลาะกันเพื่อแย่งชิงมรดก หรือลูกนอกสมรสออกมาเรียกร้องสิทธิในทรัพย์สมบัติ หนักเข้าก็ถึงขั้นฟ้องร้องขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต เสียทั้งชื่อเสียงและเงินทอ
ขั้นตอนนี้อาจจะไม่ได้ใช้สินค้าทางการเงินเป็นหลัก แต่จะใช้ "กระบวนการ" มากกว่า เช่น การจัดทำพินัยกรรม, การวางแผนส่งมอบธุรกิจ, การจัดตั้งกองทรัสต์, การตั้งธรรมนูญครอบครัว ฯลฯ หากจะใช้สินค้าทางการเงิน ก็เช่น ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ เพื่อสร้างเงินมรดกการันตีให้ลูกหลาน เมื่อเราจากไป ก็ได้ครับ



19 เมษายน 2562

7 วิธีวางแผนการเงินให้รอดแม้เศรษฐกิจขาลง

หลายคนอาจจะเป็นห่วงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของโลกเรา เช่น ถ้าฟองสบู่แตกขึ้นมาอาจจะกระทบกับการเงินของเราได้ เราก็เคยเห็นตัวอย่างตอนเศรษฐกิจตกต่ำ ทำเอาหลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับไปหลายวัน เพราะฉะนั้น วันนี้จะมาบอกเคล็ดลับวางแผนการเงินให้ฟังกันครับ ว่าเราจะสร้างนิสัยวางแผนการเงินเพื่อป้องกันปัญหาทางเศรษฐกิจ หากเกิดอะไรขึ้นมา เราจะได้อยู่รอดปลอดภัยครับ



1
. มีกองทุนฉุกเฉิน

หากเพื่อนๆเก็บเงินอยู่ในกองทุนดอกเบี้ยสูงที่รับประกันความปลอดภัยระดับหนึ่ง เราก็จะแน่ใจได้ว่าเงินของเราจะยังอยู่ครบหากเกิดอะไรขึ้นได้ แถมยังสามารถถอนออกมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ง่าย อย่างเช่น หากเราตกงานหรือมีค่าใช้จ่ายเงินใหญ่ครับ

2. อย่าใช้เงินเกินตัว

ถ้าเพื่อนๆชินกับการใช้เงินอย่างประหยัดและมีเงินเก็บเหลือในทุกวัน ก็เป็นการวางแผนการเงินที่ช่วยให้เรามีความเสี่ยงเป็นหนี้น้อย ถ้าเกิดราคาน้ำมันหรือค่าครองชีพแพงขึ้น เราก็จะสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้นครับ ถ้าเราเป็นหนี้อยู่แล้ว เกิดของราคาสูงขึ้นมาเราก็จะหาเงินมาโปะตรงนี้ได้ลำบาก
ถ้าเพื่อน ๆ จะพยายามมากกว่านี้อีกนิด ก็ลองวิธีวางแผนการเงินฉบับครอบครัวแบบนี้ครับ หากเราและคู่ของเรามีรายได้ทั้งคู่ เพื่อนๆลองใช้ชีวิตให้อยู่ในงบประมาณรายได้ของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะพอประหยัดได้ เพราะการวางแผนการเงินแบบนี้ ในเวลาปกติ เราก็จะมีเงินเหลือเก็บเยอะขึ้น แต่ถ้าเกิดคนใดคนหนึ่งถูกเลย์ออฟกะทันหันขึ้นมา บ้านเราก็จะยังอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนเกินไปครับ

3. มีแหล่งรายได้มากกว่า ทาง
แม้ว่าเรามีงานประจำอยู่แล้ว แต่เพื่อน ๆ ก็อาจจะลองหารายได้เสริมไว้บ้างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นงานที่ทำออนไลน์ หรือขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ นอกเวลางาน เพราะความไม่แน่นอนของธุรกิจในปัจจุบันทำให้เราต้องวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ และเราไม่ควรจะพึ่งพารายได้จากแหล่งเดียวครับ อย่างน้อยถ้าเพื่อน ๆ ตกงานกระทันหัน ก็ยังมีงานรายได้เสริมที่จะช่วยให้เรามีเงินในช่วงที่หางานใหม่ได้ครับ เผลอ ๆ บางคนจับทางถูก ไม่ต้องง้องานประจำแต่เอางานเสริมมาเป็นรายได้หลักเลยก็มีนะครับ

4. วางแผนการเงินด้วยการลงทุนระยะยาว

ในบางครั้งถ้าเงินที่เราลงทุนไว้ขาดทุนเพราะว่าหุ้นตกก็อย่าเพิ่งตกใจไปนะครับ ขอให้เรามองยาว ๆ ก็น่าจะรู้ว่าตลาดมีวันขึ้นลงเป็นรอบ ๆ และในระยะยาวเพื่อน ๆ ก็สามารถขายทำกำไรได้อยู่แล้ว แต่ต้องระวังนิดนึงนะครับ ถ้าเราใกล้วัยเกษียณแล้ว อาจจะรอไม่ได้ เราต้องวางแผนการเงินอีกแบบ อาจจะย้ายเงินส่วนหนึ่งไปไว้ในกองทุนความเสี่ยงต่ำ หรือเลือกบัญชีเงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงเอาไว้เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีเงินใช้หลังเกษียณ

5. เข้าใจการยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง

แม้ว่ากูรูการลงทุนหลายคนจะชอบพูดว่าอายุเท่านี้ควรจะวางแผนการเงินแบบนี้ โดยเฉพาะคนที่อายุน้อยควรจะลงทุนแบบความเสี่ยงสูง แต่ถ้าเพื่อนๆยอมรับความเสี่ยงสูงไม่ได้ ก็อาจจะต้องปรับการลงทุนของตัวเองครับ เราอาจจะต้องดูว่าความหวือหวาของทรัพย์สินแบบไหนที่เราพอรับได้ หากราคาหุ้นที่เราถืออยู่ตกไป 20 เปอร์เซ็นต์แล้วทำให้เรานอนไม่หลับทั้งคืนล่ะก็ เพื่อน ๆ ก็ต้องเปลี่ยนการวางแผนการเงินใหม่ เช่น เอาเงินไปใส่ไว้ในกองทุนที่ราคาไม่ได้ขึ้นลงมากจนเราตกใจแทนครับ แต่อย่างที่พี่หมีบอกไปแล้ว ถ้าเราเข้าใจการลงทุนในระยะยาว เราก็อาจจะต้องอดทนมากขึ้น และวางแผนการเงินให้ยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้นครับ

6. ลงทุนในหลาย ๆ แหล่ง

เพื่อน ๆ อาจจะเคยได้ยินคนที่บอกว่าถ้าเราเก็บเงินไว้ที่เดียวจะอันตรายมาก ซึ่งจริงครับ การวางแผนการเงินที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการลงทุนในทรัพย์สินหลายอย่าง เพราะถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและกระจายอาการตกใจของเราครับ เช่นถ้าตอนนี้เพื่อน ๆ มีบ้านและมีบัญชีเงินออมทรัพย์ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะว่าถือว่าเราได้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 1 อย่างแล้วก็มีเงินสดเก็บไว้ 1 ที่ครับ แนะนำว่าพยายามหาแหล่งทุนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง เพราะถ้าเกิดอันนึงราคาตก อีกอันขึ้น เราก็ยังพอจะอุ่นใจได้อยู่ครับ

7. รักษาคะแนนความน่าเชื่อถือของตัวเองให้ดี

เมื่อเศรษฐกิจขาลง แน่นอนว่าคนที่มีคะแนนความน่าเชื่อถือสูงก็จะได้รับอนุมัติเงินกู้ หรือเครดิตได้ง่ายกว่า พี่หมีเลยจะแนะนำให้เพื่อน ๆ วางแผนการเงินให้ดีตั้งแต่ตอนนี้ สร้างนิสัยการจ่ายบิลให้ตรงเวลา อย่าเปลี่ยนบัตรเครดิตบ่อยและให้สัดส่วนหนี้กับเครดิตที่ได้มีเงินเหลือไว้เยอะๆครับ ซึ่งนิสัยแบบนี้ไม่ได้ดีเฉพาะเวลาขาลงเท่านั้น แต่เป็นนิสัยที่จะทำให้เราไม่ต้องเป็นหนี้ในช่วงเวลาปกติด้วยนั่นเองครับ
 

เศรษฐกิจขาลงดูเหมือนจะเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ถ้าเราวางแผนการเงินให้ดี ก็สามารถป้องกันผลกระทบและรักษาทรัพย์สินของเราไว้ให้ดีได้ครับ เพราะการเก็บเงินและการลงทุนต้องใช้เวลาทั้งนั้น

 สนใจเรื่องวางแผนการเงิน คลิก