27 ธันวาคม 2559

โค้งสุดท้ายปลายปี ประหยัดภาษี ด้วย LTF ในดวงใจ


กลับมาอีกครั้งตามคำเรียกร้อง เพราะพอเข้าโค้งสุดท้ายใกล้ปลายปี ก็มักจะหนีไม่พ้นคำถามยอดนิยม นั่นคือ “ซื้อ LTF ตัวไหนดี”
 ปีนี้ก็เลยจัดมาให้ 7 มุมมอง จากกระบวนการคัดเลือกกองทุนที่หลากหลาย และแถมท้ายให้ด้วย “Money Tips TOP Pick” โดยเป็นกองทุน LTF ที่ได้รับการแนะนำจากกูรูมากที่สุด

FINNOMENA

ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2559 มีงานใหญ่ FINNOMENA RMF LTF Showcase ที่บรรดากูรูของ FINNOMENA ระดมสมองคัดเลือกกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุน รวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่คิดว่า “เด็ด” มาขึ้นเวที ทั้งหมด 7 กองทุน
 ในจำนวนนี้เป็น LTF อยู่ 4 กองทุน ได้แก่ MSCORE-LTF, CG-LTF, B-LTF และ 1SG-LTF
 FINNOMENA บอกว่า กว่าจะคัดกรองออกมาเป็น 4 กองทุนเด่นไม่ใช่ง่ายๆ เพราะต้องดูทั้งคุณภาพและปริมาณ ทั้งจากนโยบายการลงทุนและผลการดำเนินงานที่ผ่านมา แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ “โอกาสในอนาคต”
 นอกจากนี้ ยังประเมินความเสี่ยงในด้านต่างๆ เช่น ความผันผวน ปริมาณการซื้อขาย ค่าธรรมเนียม ไปจนถึงระยะเวลาที่ผู้จัดการกองทุนเข้ามาบริหารจัดการกองทุน

TREASURIST

อาจจะยังไม่คุ้นชื่อ TREASURIST แต่ถ้าบอกว่า โมเดล หรือกระบวนการคัดเลือกกองทุนแนะนำ
พัฒนาขึ้นมาจากมันสมองของผู้คร่ำหวอดในแวดวงการลงทุนและกองทุนรวม 2 คน ได้แก่ ผู้ก่อตั้งเพจ Thailand Investment Forum และเพจคลินิกกองทุน
 “กองทุนที่เราแนะนำ ไม่ได้ดูที่ผลงานในอดีตเพียงอย่างเดียว แต่ยังดูศักยภาพในอนาคตด้วย”
 ทั้งนี้ ข้อมูลในอดีตจะดูจากผลตอบแทนรวม และความผันผวนของราคา ในหลายๆ ช่วงเวลาประกอบกันเพื่อให้ได้กองทุนที่มีผลงานดีอย่างสม่ำเสมอทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และยาว
 ขณะที่ การประเมินศักยภาพในอนาคต จะดูที่ความสามารถโดยรวมของบริษัทจัดการ หากบริหารจัดการกองทุนในกลุ่มนั้นได้ดี ก็น่าจะมีโอกาสที่จะดีต่อเนื่องไปในอนาคต
 นอกจากนี้ ยังพิจารณาค่าธรรมเนียมการจัดการที่จะเก็บจากกองทุน เนื่องจากค่าธรรมเนียม (ที่แม้จะดูน้อยนิด) แต่เป็นต้นทุนที่ต้องจ่าย ไม่ว่าผลตอบแทนของกองทุนจะเป็นอย่างไร

หมอนัท คลินิกกองทุน

ถ้าเป็นเรื่องกองทุนรวม ในเวลานี้คงต้องนึกถึงผู้ชายคนนี้ “หมอนัท” ธนัฐ ศิริวรางกูร เจ้าของคอลัมน์ Fund Clinic ของเรานั่นเอง นอกจากนี้ ยังเป็นหนึ่งใน FINNOMENA กูรู และร่วมพัฒนาโมเดลของ TREASURIST อีกด้วย
 แต่ถ้าถามมุมมองส่วนตัว หมอนัท บอกว่า กองทุนที่น่าสนใจสำหรับเขาขอแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ตามนโยบายการลงทุน
 1.ลงทุนหุ้น 100% ได้แก่ B-LTF, CG-LTF และ MSCORE-LTF
 2.ลงทุนหุ้นผสมตราสารหนี้ ได้แก่ BLTF75
 3.ลงทุนหุ้นผสมตราสารหนี้ หรืออสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ LHSMART-LTF และ TLLTFEQ กองทุนนี้ชื่อย่ออาจจะไม่คุ้นหูคุ้นตา เพราะเป็นกองทุนน้องใหม่จาก บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทาลิส
 4.มีนโยบายจ่ายเงินปันผล ได้แก่ PHATRA LTFD





มอร์นิ่งสตาร์ 5 ดาว

ไม่ต้องเกริ่นอะไรให้เยิ่นเย้ออีกแล้ว สำหรับ “มอร์นิ่งสตาร์” เพราะทุกวันนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ก็มักจะตัดสินใจเลือก “กองทุนน่าซื้อ” โดยดูจากการจัดอันดับผลตอบแทนของ บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) และโดยมากก็จะดูเพียงผลตอบแทนของปีนี้เท่านั้น
 แต่ในที่นี้ขอหยิบกองทุน LTF ที่มอร์นิ่งสตาร์จัดให้ “5 ดาว” ซึ่ง ณ วันที่ 22 ธ.ค. 2559 มีอยู่ 3 กองทุน จากทั้งหมด 62 กองทุน ได้แก่ B-LTF, CG-LTF และ PHATRA LTFD
 สาเหตุที่มี LTF ที่ได้ 5 ดาวอยู่เพียง 3 กองทุน ก็เพราะกองทุนที่มอร์นิ่งสตาร์จะนำมาจัดอันดับ (หรือให้ดาว) จะต้องเป็นกองทุนที่มีผลดำเนินงานต่อเนื่องอย่างน้อย 36 เดือน โดยการจัดอันดับจะดูจากผลตอบแทนที่คำนึงถึงความเสี่ยงด้วย (Morningstar Risk-Adjusted Return)
 จากนั้นจะนำมาเรียงลำดับจากคะแนนมากที่สุดไปจนถึงน้อยสุด โดยกองทุนที่ได้คะแนนมากที่สุด 10% แรกของกลุ่มถึงจะได้ 5 ดาว (ถ้าอยากรู้ว่า กองทุนอื่นๆ ได้กี่ดาวกันบ้าง ต้องเข้าไปที่ www.morningstarthailand.com)
 นอกจากจะดู “ดาว” แล้ว กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) ยังมีอีกวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาวัด “ความสม่ำเสมอ” ของกองทุนได้ โดยใช้ค่าสถิติ Batting Average
 “Batting Average คือ ค่าสถิติของกีฬาเบสบอลซึ่งมีไว้ใช้วัดค่าเฉลี่ยในการตีลูกเบสบอลของนักกีฬาเบสบอลในตำแหน่งลBatter หรือคนตีลูก ว่าสามารถตีลูกโดนกี่ % ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกองทุนรวมได้ว่า กองทุนกองไหนที่สามารถทำผลตอบแทนได้ชนะค่าเฉลี่ยของกองทุนในกลุ่ม หรือ ดัชนีชี้วัด (Benchmark) ได้มากครั้งที่สุด” กิตติคุณ ระบุ
 เขาจึงคำนวณหา LTF ที่มีค่า Batting Average มากที่สุดในระยะเวลา 5 ปี และ 10 ปีที่ผ่านมา โดยใช้ดัชนี SET50 เป็นเกณฑ์ (เนื่องจาก LTF มากกว่า 90% เน้นลงทุนหุ้นขนาดใหญ่)
 กองทุนที่มีความสม่ำเสมอในการสร้างผลตอบแทนเอาชนะดัชนีชี้วัดมากที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ MA-LTF, 1SG-LTF, B-LTF, MS-CORE LTF, MV-LTF, UOBLTF, VALUE-D LTF, CIMB-PRINCIPAL LTF และ KTLF
 ขณะที่ MA-LTF, KTLF, 1SG-LTF และ MV-LTF ยังเป็นกองทุนที่มีความสม่ำเสมอในการสร้างผลตอบแทนเอาชนะดัชนีชี้วัดมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาด้วย

TOP 5 โดย บล.ฟิลลิป

สานุพงศ์ สุทัศน์ธรรมกุล นักวิเคราะห์กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟิลลิป (ประเทศไทย) เคยแจก “โพยกองทุน LTF” ที่น่าลงทุนในปี 2559 ไว้ 5 กองทุน ได้แก่ Phatra LTFD, MS-CORE LTF, 1SG-LTF, B-LTF และ P-LTF
 กองทุนน่าลงทุนในมุมมองของ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) จะต้องมีอัตราผลตอบแทนย้อนหลัง 5 ปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกองทุนในกลุ่ม LTF และต้องมีความผันผวนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มเดียวกัน
 แต่ที่น่าแปลกใจ คือ ทั้ง 5 กองทุนสำหรับปีนี้ เป็น 5 กองทุนที่น่าลงทุนมาตั้งแต่ปี 2558 ด้วยเช่นกัน

WealthMagik Top Chart

ใน wealthmagik.com จะมีการจัดอันดับกองทุนรวมไว้ 3 หัวข้อ คือ Top Return (อันดับกองทุนรวมเด่นประจำสัปดาห์ โดยประเมินจากผลตอบแทนย้อนหลัง 3 ปี) Top Clicks คือ กองทุนรวมยอดฮิตที่มีสถิติเข้าชมข้อมูลบ่อยที่สุดบน WealthMagik ในแต่ละสัปดาห์ และ Top Chart
 ถ้าดูจาก Top Clicks ล่าสุด (นับจากวันที่ 12-18 ธ.ค. 2559) จะเห็นกองทุน B-LTF นำโด่งมาด้วยจำนวน 12,282 คลิก, KFLTFDIV 10,493 คลิก, KFSDIV 9,422 คลิก, K20SLTF 5,667 คลิก, CG-LTF 5,641 คลิก และ BBASICDLTF 5,046 คลิก
 แต่การจัดอันดับที่น่าสนใจ และไม่เหมือนใคร คือ Top Chart ได้แก่ กองทุนรวมที่ติด Top Returns อย่างต่อเนื่องนานที่สุด โดย LTF ล่าสุดที่ติดอันดับอยู่นานที่สุด ได้แก่ MS-CORE LTF ติดชาร์ตมาแล้ว 50 สัปดาห์
 รองลงมาเป็น P-LTF (48 สัปดาห์) MV-LTF (30 สัปดาห์) CG-LTF (27 สัปดาห์) MG-LTF (26 สัปดาห์) B-LTF (24 สัปดาห์) K20SLTF (23 สัปดาห์) PHATRA LTFD (14 สัปดาห์)  CIMB-PRINCIPAL LTF (5 สัปดาห์) และ MA-LTF (1 สัปดาห์)

Money Tips TOP Pick

หลังจากที่ดูการจัดอันดับ และกองทุนแนะนำ ของกูรูทั้งหมดแล้ว ลองมาไล่เรียงดูว่า มี LTF กองทุนไหนบ้างที่ถูกพูดถึงมากที่สุด
 กองทุนที่นำโด่ง คือ กองทุนบัวหลวงหุ้นระยะยาว (B-LTF) บลจ.บัวหลวง ไม่ว่าจะเป็นชาร์ตไหน ใครจัดอันดับ ก็ดูจะฮิตติดลมบนไปกับเขาเสียหมด แถมยังถูกใจนักลงทุน เพราะมีคนเข้าไปคลิกดูข้อมูลใน wealthmagik.com มาเป็นอันดับ 1 อีกด้วย
 ถัดมาเป็น กองทุน แมนูไลฟ์ สเตร็งค์ คอร์ หุ้นระยะยาว (MS-CORE LTF) บลจ.แมนูไลฟ์ (ประเทศไทย) ได้รับการคัดเลือกไป 5 ครั้ง
 ขณะที่ กองทุนบรรษัทภิบาล หุ้นระยะยาว (CG-LTF) บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) และ กองทุน ภัทร หุ้นระยะยาวปันผล (PHATRA LTFD) บลจ.ภัทร ได้รับกันไปคนละ 4
 กองทุน ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล ไลฟ์ หุ้นระยะยาว (CIMB-PRINCIPAL LTF) บลจ.ซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล และ กองทุน วรรณเอเอ็มซีเล็คทีฟโกรทหุ้นระยะยาว (1SG-LTF) ได้มาคนละ 3
 แต่กองทุน LTF ที่น่าสนใจลงทุนเกือบทั้งหมด เป็นกองทุนที่เปิดมานาน มีผลงานดีมาต่อเนื่อง ในขณะที่ปีนี้มีกองทุน LTF ออกมาใหม่มาหลายกองทุน แถมยังมีนโยบายการลงทุนใหม่ๆ น่าสนใจไม่แพ้กองทุนเก่าๆ แถมหลายกองทุนยังพิสูจน์ผลงานได้จากกองทุนหุ้นธรรมดาที่เป็นต้นแบบของ LTF
 ถ้าจะนำ LTF ทั้งเก่าและใหม่มาจัดเป็นกลุ่ม ตามนโยบายการลงทุน จะได้ออกมา 5 กลุ่มกว้างๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 เลือกหุ้นตามขนาดจากเดิมที่ LTF ส่วนใหญ่จะลงทุนเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ แต่ตอนนี้มีหลายกองทุนที่ออกมาใหม่และมีนโยบายลงทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก

กลุ่มที่ 2 เน้นหุ้นที่จ่ายปันผลสูง สังเกตง่ายๆ มักจะมีคำว่า “ปันผล” หรือ “ดิวิเดนด์” อยู่ในชื่อกองทุน

กลุ่มที่ 3 ลงทุนหุ้นไทยเพียง 70% ที่เหลือแบ่งไปลงทุนตราสารหนี้ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และหุ้นต่างประเทศ

กลุ่มที่ 4 ความผันผวนต่ำ ที่มีนโยบายที่จะทำให้ผลตอบแทนของกองทุนมี “ความผันผวนต่ำ”

กลุ่มที่ 5 มีนโยบายเฉพาะเจาะจง เช่น ลงทุนตามหลักศาสนาอิสลาม หรือ หุ้นที่มีธรรมาภิบาลดี

มาถึงตรงนี้ คุณมีกองทุน LTF ในดวงใจแล้วหรือยัง

26 ตุลาคม 2559

ลดหย่อนภาษีด้วยอะไรดี? (ประกันชีวิต,ประกันบำนาญ,LTF,RMF)



เมื่อพูดถึง LTF, RMF ประกันชีวิต หรือประกันแบบบำนาญ คนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับเรื่องการลดภาษีมากกว่าที่จะซื้อเพื่อให้ได้ประโยชน์จากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของตัวลดหย่อนนั้นๆ

ถ้าคิดจะซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างเดียว ไม่ว่าจะซื้ออะไร ถ้าจ่ายเงินเท่ากัน ก็ช่วยให้ลดหย่อนภาษีได้เท่ากันเช่นกันครับ

แต่ถ้าคุณต้องการมากกว่าการลดหย่อนภาษี ต้องการที่จะซื้อเพื่อให้ได้ประโยชน์ ได้ความคุ้มค่า และตอบโจทย์ชีวิตคุณจริงๆ ก็จำเป็นที่จะต้องทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ของตัวลดหย่อนแต่ละประเภท สินค้านั้นตอบโจทย์อะไรเราบ้าง? หรือสินค้าลดหย่อนตัวไหนจำเป็นต่อชีวิตของคุณมากที่สุด?

การประกันชีวิตเป็นการการันตีเงินที่จะได้รับในอนาคต กรณีที่เราจากไปอย่างกระทันหัน แล้วคนที่เราอุปการะเลี้ยงดู (เช่น พ่อแม่ ลูก ภรรยา) อาจจะมีความเดือดร้อน(จากภาระค่าใช้จ่าย ค่าเล่าเรียน หรือหนี้สินที่มีอยู่) ประกันชีวิตมีให้เลือกหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีลักษณะความคุ้มครองและผลประโยชน์ต่างกันออกไป ไม่ว่าจะได้ตอนเสียชีวิต (แบบเน้นความคุ้มครอง) หรือตอนยังมีชีวิต(แบบสะสมทรัพย์) แต่สิ่งที่สำคัญของการซื้อประกันชีวิต คือ “ทุนประกัน” ไม่ใช่ “ผลตอบแทน” เพราะถ้าคิดจะซื้อประกันโดยมอง “ผลตอบแทน” เป็นหลัก ไม่คุ้มครับ ซื้อ LTF หรือ RMF ผลตอบแทนสูงกว่าเห็นๆ ในระยะยาว

LTF คือกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง มีสัดส่วนการลงทุนแต่ในหุ้น 70-100% ทำให้มีความเสี่ยงและความผันผวนค่อนข้างสูง เหมาะสำหรับการลงทุนเพื่อเป้าหมายทางการเงินระยะกลางถึงยาว ที่มีระยะเวลาอย่างน้อย 7 ปี ขึ้นไป เพราะไม่สามารถขายได้ก่อน 7 ปีปฏิทิน

RMF คือกองทุนรวมเพื่อคนที่ต้องการมีเงินเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณ ดังจะเห็นได้ว่าอยู่ในหมวดลดหย่อนภาษีเดียวกันกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือประกันแบบบำนาญ เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเกษียณอายุตามปกติ คือเมื่ออายุ 55 หรือ 60 ปี เพราะตามเงื่อนไขแล้วหากลงทุนใน RMF จะขายคืนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุ 55 ปีเป็นต้นไป และลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อย 5 ปี กองทุน RMF มีนโยบายการลงทุนในสินทรัพย์ให้เลือกหลากหลายประเภท ทั้งหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ตราสารหนี้ในประเทศ ตราสารหนี้ต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ฯลฯ ดังนั้นจึงสามารถจัดพอร์ตและปรับพอร์ตการลงทุนได้ตลอดเวลาตามระดับความเสี่ยงที่รับได้

ประกันแบบบำนาญ เป็นทางเลือกหนึ่งในการเก็บไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ ช่วยให้มีเงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ โดยจะต้องออมอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุเกษียณ (เช่น 55, 60 หรือ 65 ปี แล้วแต่แบบ) แล้วมีการการันตีเงินที่จะได้รับหลังเกษียณทุกๆปี ไปจนกระทั่งอายุ 85 หรือ 90 ปี

เครื่องมือทางการเงินที่กล่าวมาข้างต้น ไม่ใช่แค่ซื้อเพื่อลดหย่อนภาษี แต่อยากจะให้มองเป็นหนึ่งในเครื่องมือเพื่อการบริหารเงิน สร้างความมั่งคั่ง เสริมความมั่นคงของชีวิตและครอบครัวด้วยนะครับ

ตกลงเราควรซื้อสินค้าอะไรลดหย่อนภาษีดี? ประกันชีวิต, ประกันบำนาญ, LTF หรือ RMF ดี? หรือซื้อทุกอย่างเลย? แล้วควรจะแบ่งเงินไปซื้ออย่างละเท่าไหร่?

ผมแนะนำให้ตั้ง “เป้าหมายทางการเงิน” ของตัวเองดูก่อน ว่าต้องการอะไร? ใช้เงินเท่าไหร่? กรอบเวลาเท่าใด? แล้วค่อยมาคิดว่า เราจะจัดสรรเงินไปในแต่ละเป้าหมายเท่าไหร่ หลังจากนั้นจึงหาสินค้าทางการเงินที่ตอบโจทย์เป้าหมายนั้น จึงจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุด

เราอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก มากกว่าแค่การซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีอย่างเดียว แต่เชื่อเถอะว่าการวางแผนการเงินทั้งระบบจะให้คุณได้ประโยชน์มากกว่าการลดหย่อนภาษีอย่างแน่นอน

7 ตุลาคม 2559

จัดสรรเงิน 5 ส่วน บริหารเป็นชีวิตดีแน่


1. รายรับ - บัญชีฉัน

ก็จะเป็นบัญชีสำหรับรายได้ที่เข้ามาจากทุกช่องทาง เปิดหลายแบงค์ได้แต่แนะนำให้จัดหมวดหมู่ชัดเจนครับ และสมุดบัญชีนี้ยังมีอีกหน้าที่สำคัญคือ แจกจ่าย คอยกระจายรายได้เข้าสู่บัญชีอื่นๆ ต่อไป จนเหลือเงินสุดท้ายที่ไม่ได้ถูกจัดหมวดหมู่ และนั่นแหละคือความฟิน นั่นคือเงินที่เราสามารถถลุงได้เต็มที่ อยากได้อะไรก็ซื้อเลย! แต่ภายใต้งบบัญชีฉันที่มีอยู่นะครับ

2. รายจ่าย

รวมช่องทางเงินไหลออกทุกประเภท ตั้งแต่ ค่าบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำมัน เงินการศึกษาบุตร ซึ่งตัวเราเองก็ควรจจะรู้ก่อนนะครับว่าชีวิตประจำวัน ประจำเดือน เราต้องเสียเงินให้เรื่องใดบ้าง ผมรวมถึงรายจ่ายเล็กน้อยที่ควรจะเผื่อสำรองไว้ด้วย คือหนี้ทุกประเภท เลือกได้ก็จ่ายก่อนเลยครับ อย่าพอกพูน ทั้งหมดก็เพื่อตัวเองเพื่อที่จะได้รู้ว่าเราเองเหลือเงินเท่าไหร่สำหรับบัญชีต่อๆ ไป

3. เงินออมเฉยๆ 

เมื่อหามาได้แล้วก็ต้องเก็บก่อนครับ เก็บมากเก็บน้อยก็ขึ้นอยู่กับความต้องการและจุดประสงค์ของเรา แต่ผมแนะนำอยู่ที่ 10% ส่วนนี้ออมไว้เพื่อการเกษียณครับ จัดว่าเป็นกองกำลังสำคัญก่อนที่จะยกทัพออกไปลงทุนเลยล่ะครับ

4. เงินออมเผื่อฉุกเฉิน

ส่วนนี้เปรียบเสมือนกำลังพลสำรองที่มีเผื่อใช้ในยามวิกฤติที่เงินรัดตัวสุดๆ หรือรายจ่ายเข้ามากระทันหัน โดยเฉพาะกับรายจ่ายหนักอย่างค่ารักษาพยาบาล ค่าบำรุงรักษารถหรือบ้าน สำคัญมากนะครับ บอกได้เลยว่าก็เพราะเรื่องพวกนี้แหละที่สร้างหนี้ให้คนมานักต่อนักแล้ว

5. เงินลงทุน

ก่อนที่จะมองหาการลงทุนที่ผลตอบแทนดีๆ ผมแนะนำให้เฟ้นหาการลงทุนที่จะช่วยสร้างความมั่นคง อบอุ่นหัวใจ ให้ได้ก่อนนะครับ แล้วค่อยปันเงินผลตอบแทนกลับเข้ามาช่องทางที่ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ทบต้นไปเรื่อยๆ เพิ่มช่องทางไปเรื่อยๆ จากง่ายสู่ยาก เน้นความเป็นอยู่มากกว่าความร่ำรวย เลือกที่เหมาะกับตัวเรา และ ให้โฟกัสที่ภาพระยะยาว 

----------------------------

ทำความรู้จักกับอาชีพนักวางแผนการเงิน




ขอเกาะกระแสดราม่าตามกระทู้ด้านล่างนิดนึงนะครับ จะมาใช้พื้นที่ตรงนี้อธิบายว่า ตกลงแล้ว "นักวางแผนการเงิน (Financial Planner) ทำอะไรให้เรากันแน่?"

นักวางแผนทางการเงิน ก็คือ คนที่จะคอยออกแบบ ให้คำแนะนำเพื่อใช้ในการวางกลยุทธ์เรื่องเงินๆ ทองๆ ให้กับคุณ

เพื่อให้คุณบรรลุเป้าหมายชีวิตในระยะยาวบนส่วนที่ต้องใช้เงิน!

คำว่า "วางกลยุทธ์" เท่ากับว่า "ช่วยคิดค้นวิธีการ" ต้องไปยังไง? ด้วยวิธีไหน? ต้องวางเงินในเครื่องไม้เครื่องมืออันไหนนั่นแหละครับ

แล้วเรื่องเงินล่ะครอบคลุมอะไรบ้าง? 
- การบริหารรายรับรายจ่าย
- การบริหารจัดการหนี้สิน
- การวางแผนทำประกัน
- การวางแผนการลงทุน
- การวางแผนภาษี 
- และการวางแผนมรดกหรือส่งมอบทรัพย์สิน

สิ่งที่นักวางแผนการเงิน(จริงๆ)ทำก็คือ "การนั่งคุยกับลูกค้าเหมือนเป็นเพื่อน" เป็นผู้ช่วยส่วนตัว ลูกค้ามองเป้าหมายในชีวิตไว้อย่างไร สิ่งที่อยากได้ อยากมี หรืออยากทำคืออะไร โดยเราจะช่วยเรียงลำดับความสำคัญของเป้าหมาย 1-5 เพื่อใช้สร้างสมมติฐานต่างๆ ในชีวิต ว่ามีโอกาสจะเป็นไปได้จริงไหม แต่ละปีจะเกิดอะไรบ้าง

เป้าหมายชีวิต ก็อย่างเช่น อยากมีบ้าน อยากมีรถ อยากเกษียณเร็ว แล้วมันก็จะเข้ามาที่คำถามที่ว่า ไลฟ์สไตล์หลังเกษียณจะเป็นยังไง หลังเกษียณต้องการมีเงินใช้เดือนละเท่าไหร่ อยากเปลี่ยนรถทุกกี่ปี อยากมีลูกกี่คน มีลูกแล้วจะให้ลูกเรียนที่ไหน ให้เรียนถึงระดับใด ให้เรียนในไทยหรือต่างประเทศ ต่างประเทศจะเป็นประเทศไหน อเมริกา อังกฤษ นิวซีแลนด์ หรือออสเตรเลีย หรือให้เรียนในประเทศ จะเรียนหลักสูตรไหนรัฐบาล เอกชนหรือนานาชาติ ลูกเรียนจบแล้วอยากมีเงินก้อนให้ลูกทำธุรกิจ ลูกจะแต่งงานต้องใช้เงินค่าสินสอดเท่าไหร่ ,.. เยอะเอาเรื่องเลยล่ะครับ

แน่นอนครับว่าเงินไม่ใช่ทุกอย่างในชีวิต แต่ถ้าหลายสิ่งหลายอย่างที่คุณอยากได้มันต้องใช้เงิน เราทุกคนก็จำเป็นต้องรู้เรื่องเงิน วางแผนเรื่องเงิน ครับ

สิ่งสำคัญที่นักวางแผนการเงินต้องรู้ ก็คือ "ชีวิตตอนนี้ของคุณอยู่ที่ตรงไหน?" เพื่อจัดทัพการเงินให้ถูกต้อง อยากจะรบให้ชนะมันก็ต้องมีแผนที่ดี และก็ต้องวางแผนกันตั้งแต่ต้นครับ

สิ่งที่พวกเราจำเป็นต้องรู้ต่อมาก็คือ ทุกวันทุกเดือนคุณมีรายได้เข้ามาเท่าไหร่? และเหลือเท่าไหร่์

นักวางแผนทางการเงินหรือที่ปรึกษาทางการเงิน(ตัวจริงๆ) ไม่ได้มาเพื่อ“ขายของ”นะครับ เพราะหน้าที่เค้าคือให้คำแนะนำ พวกเราจะโฟกัสไปที่ “เป้าหมาย” ของคุณเป็นหลัก นั่นหมายความว่ากว่าเราจะแนะนำให้คุณลงทุนกับอะไรสักอย่างหนึ่งเนี่ย ต้องใช้เวลาพูดคุยและขบคิดกันสักพักเลยล่ะครับ

ถ้าไม่มีการวางกลยุทธ์ที่ชัดเจน ไม่มีการทำแผนที่ถูกต้อง ไม่มีการวางแผนที่ครอบคลุม รวมถึงไม่มีแผนฉุกเฉิน ก็ไม่ควรจะเรียกอาชีพนั้นว่าเป็น “ที่ปรึกษาการเงิน” หรือ “นักวางแผนการเงิน” นะครับ

ที่เห็นส่วนใหญ่จะเป็นเพียงการ “ส่งเสริม” ให้คนซื้อสินค้าทางการเงิน โดยนำคำว่า วางแผน เข้ามาต้นประโยค เช่น วางแผนการเงินด้วยประกันชีวิต หรือ วางแผนการเงินด้วยการลงทุนในกองทุนรวม เป็นต้น

เราจำเป็นต้องใช้บริการนักวางแผนการเงินไหม?

มันก็ขึ้นอยู่ที่ความต้องการของคุณอีกนั่นแหละครับ การมีนักวางแผนการเงินก็เหมือนมีผู้ช่วยที่จะเข้ามาตรวจสอบอีกชั้น ตบหน้าตบหลังเพื่อให้เป้าหมายในส่วนที่ต้องใช้เงินในระยะยาวของคุณเข้าที่

แล้วนักวางแผนการเงินหวังอะไรจากเรา?

ก็รายได้นั่นแหละครับ ก็แหมเราก็คืออาชีพๆ หนึ่งนั่นแหละเนอะ หลักๆ เราทีรายได้สองทาง ดังนี้ครับ

1) ค่าบริการที่ปรึกษาและจัดทำแผนทางการเงิน 
2) ค่าคอมมิชชั่นจากสินค้าทางการเงินที่คุณซื้อผ่านเรา ซึ่งก็คือจากสินค้า “กลุ่มประกัน” และ “สินค้าการลงทุน”

เพื่อให้สะดวกต่อลูกค้า พวกเราก็จำเป็นต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นตัวแทนขายประกัน และตัวแทนขายสินค้าการลงทุน เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการหาสินค้าให้ลูกค้า เพราะพอคุยเรื่องแผนที่ต้องใช้กันเสร็จสัพเรียบร้อย ก็จะได้ฝากวานให้เราจัดการได้ต่อทันที ไม่ต้องย้ายไปย้ายมายังไงล่ะครับ 

ยิ่งไปกว่านั้นนักวางแผนการเงินอย่างเราจะมี “ใบอนุญาต” หรือ “Single License (SL)” กับ “Investment Planner (IP) License” โดย Single License มีไว้เพื่อ “แนะนำ” สินค้าหรือหลักทรัพย์เป็นรายตัว แต่ถ้าจะวางแผน จำเป็นที่จะต้องมี IP License และอาจจะดูจากคุณวุฒิ CFP ประกอบซึ่งเป็นคุณวุฒิด้านการวางแผนการเงินหลักของไทย เป็นคุณวุฒิที่ได้รับการรับรองในกฎระเบียบต่างๆ จาก สำนักงาน กลต. และได้รับการสนับสนุนจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยครับ

หลายคนอาจจะมองว่าอาชีพนักวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย แต่ถือว่ามีมานานแล้วครับในต่างประเทศ และแนวโน้มการให้บริการประเภทนี้กำลังขยายตัวมากขึ้น ก็เป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับบางคนที่ต้องการหามืออาชีพมาเป็นตัวช่วยในการดูแลเงินแทนที่จะต้องมานั่งคิดเองนั่นแหละครับ

28 สิงหาคม 2559

บริการการวางแผนการเงินเป็นอย่างไร?

"7 ความเข้าใจผิด เกี่ยวกับการใช้บริการวางแผนทางการเงิน"


ตอนนี้ การให้บริการวางแผนทางการเงิน หรือการเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เริ่มเป็นที่รู้จัก และเป็นที่พูดถึงในสังคมเรามากขึ้นเรื่อยๆแล้วนะครับ แต่หลายคนก็อาจจะยังไม่เห็นภาพ หรือไม่เข้าใจการให้บริการของพวกเรามากนัก และอาจจะยังเข้าใจผิดอยู่บางเรื่อง

วันนี้ผมเลยอยากจะมาสรุปให้ฟังจากประสบการณ์ที่ผ่านๆมาครับ ว่าอะไรบ้างที่คนส่วนใหญ่ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับการให้บริการวางแผนทางการเงินและตัวของนักวางแผนทางการเงินอยู่ และแท้จริงแล้ว มันเป็นอย่างไรกันแน่ครับ

=================================

สิ่งที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจผิดกับการให้บริการวางแผนทางการเงิน / นักวางแผนทางการเงิน

1. บริการวางแผนทางการเงินมีไว้สำหรับคนรวย / ไว้รวยก่อนค่อยมาใช้บริการ

ความจริง = ใครๆก็สามารถใช้บริการวางแผนทางการเงินได้ครับ เราไม่เคยปฏิเสธที่จะเข้าหา หรือปฏิเสธที่จะไม่ให้บริการแก่ใครเป็นพิเศษ การคิดว่ารอไว้รวยก่อนแล้วจะมาใช้บริการก็อาจจะมีโอกาสเป็นไปได้ยาก เพราะระหว่างทางอาจมีเรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นที่เราอาจจะนึกไม่ถึง ทำให้เป้าหมายที่จะรวยต้องสูญสลายไป แต่การใช้บริการวางแผนตั้งแต่ยังไม่รวยมากต่างหาก ที่จะมีโอกาสทำให้เรารวยได้ อย่างมั่นคงและปลอดภัยจริงๆ

----------------------------------------------------------

2. ค่าบริการ / ค่าที่ปรึกษา ต้องแพงมากแน่ๆ

ความจริง = การคิดค่าบริการวางแผนหรือการให้คำปรึกษาจะไม่ได้คิดเท่ากันทุกคนครับ ขึ้นอยู่กับฐานรายได้รวมหรือฐานทรัพย์สินที่บริหารจัดการ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายๆไป แต่เบื้องต้นค่าบริการขั้นต่ำที่สุดก็อยู่แค่ประมาณ 1x,xxx บาท ในปีแรกเท่านั้น (ปีต่อๆไปจะน้อยกว่านี้ เพราะไม่ต้องทำแผนการเงินเต็มรูปแบบอีก)

----------------------------------------------------------

3. ก็แค่เป็นบริการแนะนำว่า เราควรจะซื้อประกัน / กองทุนอะไร เท่าไหร่

ความจริง = การให้คำแนะนำเรื่องสินค้าทางการเงินที่จะช่วยให้บรรรลุเป้าหมายหรือการคุ้มครองความเสี่ยงที่เหมาะสม เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำปรึกษาที่ได้ให้เท่านั้น เพราะในแผนการเงินที่วางแผนไว้ให้ยังมีรายละเอียดอีกมาก ทั้งการบริหารจัดการพอร์ตการลงทุน, การวางแผนและควบคุมกระแสเงินสดให้เป็นไปตามแผน ฯลฯ และอาจจะรวมไปถึงการให้คำปรึกษาชีวิตในด้านอื่นๆที่นอกเหนือจากเรื่องการเงินอีกด้วย (เพราะทุกอย่างในชีวิตล้วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินทั้งหมด ไม่มากก็น้อย)

----------------------------------------------------------

4. นักวางแผน / ที่ปรึกษาทางการเงิน ก็คือคนมาขายประกันนั่นแหละ

ความจริง = บางคนพอเราบอกว่าเป็น นักวางแผนทางการเงิน ก็จะคิดว่าเรามาขายประกันเหรอ? ซึ่งอาจจะติดภาพลักษณ์มาจากคนที่เรียกตัวเองว่า ที่ปรึกษาทางการเงิน บางคน ที่ไม่ได้ให้บริการวางแผนการเงินอย่างเต็มรูปแบบ แต่อาจจะดูแลเฉพาะเรื่องประกันเป็นพิเศษเท่านั้น (เรื่องอื่นๆอาจจะมีบ้าง เช่น ซื้อกองทุน คำนวณภาษี แต่ไม่ได้ลงลึก และครอบคลุมเท่า) ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นักวางแผน / ที่ปรึกษาทางการเงินที่ทำงานเต็มรูปแบบและเป็นมืออาชีพจริงๆ จะต้องทำแผนการเงินอย่างครอบคลุมให้ลูกค้าได้ และมีลักษณะเป็นการขาย "บริการ" การให้คำปรึกษา มากกว่าเป็นการขาย "สินค้า" อย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะครับ

----------------------------------------------------------

5. นักวางแผน / ที่ปรึกษาทางการเงิน ที่ได้รับเงินค่าคอมมิชชั่นจากการแนะนำสินค้าให้ลูกค้าอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาคิดค่าบริการจากลูกค้าอีก

ความจริง = ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจ โดยแยกประเด็นก่อนว่า ผลตอบแทนที่เกิดขึ้นนั้น "นักวางแผนทำงานให้ใคร?" ค่าคอมมิชชั่นที่นักวางแผนได้รับจากการแนะนำสินค้า คือการทำงานเป็นตัวแทน หรือนายหน้า ให้กับ "บริษัท" ที่ผลิตสินค้าทางการเงิน ช่วยบริษัทขายสินค้าโดยที่บริษัทไม่ต้องมาขายเอง บริษัทก็เลยจ่ายค่าตอบแทนเป็นค่าคอมมิชชั่นให้ แต่การวางแผน ให้คำปรึกษา และจัดทำแผนการเงิน คือบริการที่นักวางแผนทำงานให้ "ลูกค้า" ดังนั้น นักวางแผนจึงจำเป็นจะต้องคิดค่าบริการ จากการลงทุนลงแรงตรงจุดนี้ด้วยเช่นกันครับ

----------------------------------------------------------

6. บริการวางแผนทางการเงิน ก็คือมีคนคอยบริหารการลงทุนแทนเรา

ความจริง = นักวางแผนการเงิน ไม่ใช่คนที่จะบริหารการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่ลูกค้ามุ่งหวังนะครับ เพราะนั่นมันคือหน้าที่ของนักบริหารพอร์ตการลงทุน หรือผู้จัดการกองทุน ที่อยู่ที่บลจ. ครับ ส่วนตัวนักวางแผน จะทำหน้าที่เป็นคนกลาง ระหว่างลูกค้า กับผู้จัดการกองทุน โดยรับเป้าหมายของลูกค้า มาจัดพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมให้ และให้ทางฝั่งผู้บริหารพอร์ตการลงทุน เป็นคนคอยจัดการเรื่องการลงทุนให้ครับ โดยมีทางนักวางแผน เป็นผู้คอยติดตามผลการดำเนินงาน และอาจจะให้คำแนะนำในการปรับพอร์ตการลงทุนเท่านั้น ไม่ได้เป็นคนลงมือซื้อขายหลักทรัพย์ หรือบริหารการลงทุนแทนลูกค้าครับ

----------------------------------------------------------

7. ไม่อยากใช้บริการ เพราะไม่มีอะไรมาการันตีผลลัพธ์ความสำเร็จ

ความจริง = ที่จริงก็คิดไม่ผิดหรอกครับ เรื่องที่ไม่มีอะไรมากันตีความสำเร็จได้ แต่ต้องทำความเข้าใจเรื่องของการวางแผนอย่างหนึ่งก่อนว่า การวางแผน ไม่ใช่การการันตีความสำเร็จของผลลัพธ์ได้อยู่แล้ว เพียงแต่เป็นการ "เพิ่ม" โอกาส ในการไปให้ถึงเป้าหมายได้เท่านั้น ซึ่งการมาใช้บริการวางแผน จะช่วยให้คุณมีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำอะไรได้ถูกต้อง อยู่ในทิศทางที่ใช่ ไม่ต้องกลัวจะเดินหลงทางด้วยตัวเอง ดังนั้น เราจ่ายเงินค่าบริการ จึงไม่ใช่การจ่ายเพื่อซื้อ "ความสำเร็จ" (เพราะถ้าทำแบบนั้นได้จริงเชื่อว่าราคาแพงแค่ไหนก็คงยอมจ่าย) แต่เป็นการจ่ายเพื่อซื้อ "วิธีการ" ที่ถูกต้องมากกว่าครับ

=================================

22 สิงหาคม 2559

ทำไมต้องวางแผนการเงิน






การวางแผนการเงิน ( Financial Planning ) หมายถึง กระบวนการวางแผนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย
ทางการเงินของแต่ละบุคคล อาจจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Personal Finance

ทำไมต้องวางแผนการเงิน 

1.คนอายุยืนขึ้น

ปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ย 71 ปี แต่ถ้าเราเก็บสถิติเฉพาะคนไทยที่อายุ 60 ปีขึ้นไป จะพบว่า
ท่านเหล่านั้นจะอยู่ได้อีกประมาณ 20 ปี ( ข้อมูลจากสถาบันประชากรและสังคม ม.มหิดล ) ดังนั้น
จึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า ช่วงเวลาหลังเกษียณที่ต้องอยู่อีกตั้ง 20 ปี เราจะอยู่กันอย่างไร 
ถ้าไม่มีการวางแผนการเงินที่ดีพอ

2.โครงสร้างสังคมเปลี่ยนไป

เดิมคนไทยอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ปัจจุบันแยกย้ายกันอยู่ เป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น 
การคาดหวังให้ลูกหลานเลี้ยงดู เป็นเรื่องที่หวังได้น้อยลง เราจึงต้องเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ

3.ค่าครองชีพในอนาคตจะสูงขึ้นมาก 

ข้าวของในท้องตลาดมีราคาสูงขึ้นทุกวัน อีก 20-30 ปีข้างหน้าในวันที่เราเกษียณ 
สินค้าที่จำเป็นอาจแพงขึ้นอีก 1-2 เท่าตัว โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ที่มักมีอัตราการเพิ่มขึ้น
ของค่าใช้จ่ายมากกว่าเงินเฟ้อเสมอ ดังนั้นงบประมาณที่เราเตรียมไว้อาจไม่เพียงพอ 
ถ้าไม่ได้คำนวนเผื่อค่าเงินเฟ้อไว้ด้วย

4.สวัสดิการของรัฐไม่เพียงพอแน่

ในอีก 15 ปีข้างหน้า สัดส่วนของประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปจะเพิ่มเป็น 20% นั่น
หมายความว่า 1 ใน 5 ของคนไทยจะเป็นคนสูงอายุ ขณะที่สัดส่วนของคนวัยทำงานต่อคนสูงอายุ
จะลดลงจาก 6:1 ในปัจจุบันเป็น 3:1 ในปี 2021 ทำให้ภาษีที่รัฐเก็บได้จะไม่เพียงพอต่อการจัดหา
สวัสดิการให้คนสูงอายุ หรือหากทำได้ก็เป็นแบบพื้นๆเท่านั้น

5.ผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีความซับซ้อนมากขึ้น

สมัยก่อนการฝากเงินในธนาคารให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจและมีความมั่นคงสูง เดี๋ยวนี้ดอกเบี้ย
เงินฝากลดน้อยลงมาก ขณะที่ช่องทางการลงทุนใหม่ๆมีให้เลือกหลากหลายมากขึ้น 
แต่ก็มีรูปแบบและความเสี่ยงแตกต่างกันออกไป การทำความเข้าใจและรู้จักวางแผนการลงทุน
ให้ถูกต้องเหมาะสมกับแต่ละบุคคล จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

6.ทำให้เราสามารถเกษียณอายุได้เร็วขึ้น

หากมีการวางแผนที่ดีและเริ่มต้นเร็ว ย่อมบรรลุเป้าหมายได้เร็วกว่า ไม่ว่าจะเป็นเงินออมที่เก็บ
ได้มากขึ้น ดอกเบี้ยทบต้นที่สูงขึ้น หรือการสามารถหาประโยชน์จากโอกาสดีๆที่บังเอิญผ่านเข้า
มา เพราะเรามีเงินออม เงินก้อนที่เก็บเอาไว้ เช่น ซื้อที่ดินทำเลสวยจากคนที่ร้อนเงิน หรือ 
ซื้อหุ้นพื้นฐานดีที่ราคาตกลงมามากเกินควร

7.ช่วยรองรับความเสี่ยงของชีวิตได้มากขึ้น 

ชีวิตที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เราอาจโชคร้าย เจ็บป่วย หรือ เกิดอุบัติเหตุหนักๆขึ้นได้
 แต่ถ้าเรามีการวางแผนการประกันภัยไว้ ย่อมสามารถบรรเทาภาระต่างๆลงได้ หรือ
 เราเกิดตกงานกระทันหัน มีคนในครอบครัวป่วย การมีเงินเก็บสำรองไว้ ย่อมหลีกเลี่ยง
ความยุ่งยากจากการต้องไปกู้หนี้ยืมสินเงินกู้นอกระบบลงได้

14 สิงหาคม 2559

การวางแผนการเงินทำอะไรบ้าง?



คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าการวางแผนการเงิน คือ การลงทุน แต่จริงๆ ไม่ใช่นะครับ!

ความจริงแล้ว การวางแผนการเงินไม่ได้ดูแค่การลงทุนเพียงอย่างเดียว การลงทุนเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงินเท่านั้น

แต่การวางแผนการเงินครอบคลุมตั้งแต่ การวางแผนบริหารรายรับรายจ่าย การวางแผนบริหารหนี้สิน การออมเงินเพื่อเป้าหมายในอนาคต การทำประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยง การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างคุ้มค่า การลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงย และการวางแผนการส่งต่อมรดกให้ทายาทตามที่ต้องการ

การวางแผนการเงินจึงเป็นเรื่องของการวางแผนเพื่อตอบโจทย์ ความต้องการ และเป้าหมายในชีวิตของแต่ละบุคคลโดยเฉพาะ นักวางแผนการเงินจะทำหน้าที่ค้นหาเป้าหมายทางการเงินของคุณ เช่น มีเงินเท่าไหร่ถึงพอเกษียณอายุ ต้องเตรียมเงินเท่าไหร่ถึงจะพอส่งลูกเรียนจนจบปริญญาตรี ต้องผ่อนบ้านเดือนละเท่าไหร่จึงจะหมดภาระก่อนเกษียณ แล้วนำความต้องการมาวางแผน หลังจากนั้นแล้วจึงค่อยจัดหาผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อตอบโจทย์เป้าหมายทางการเงินตามที่คุณต้องการ

11 สิงหาคม 2559

อาชีพนักวางแผนการเงิน (FINANCIAL ADVISOR)


อาชีพนักวางแผนการเงิน (FINANCIAL ADVISOR)
ยังเป็นสิ่งใหม่ในอุตสาหกรรมการเงิน ในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก หรือแม้แต่จะเข้าใจไปผิดๆ ก็เยอะ เช่น 

1. มาวางแผนการเงินก็คือ มาขายประกันนั้นแหละ ไม่ต้องมาทำแอ๊ป (กระทู้ในพันธ์ทิพย์) 

2. เชื่อว่า นักวางแผนการเงินต้องเก่งเรื่องหุ้นแน่ๆ (คิดแบบนี้กันเยอะ) ที่จริงแล้วนักวางแผนการเงินไม่ใช่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์นะครับ 
3. การวางแผนการเงิน เหมาะกับคนรวยเท่านั้นแหละ (อ้าวแล้วคนกินเงินเดือนไม่มีเป้าหมายชีวิตหรือ)
4. นักวางแผนการเงิน ใครๆก็เป็นได้