19 เมษายน 2562

7 วิธีวางแผนการเงินให้รอดแม้เศรษฐกิจขาลง

หลายคนอาจจะเป็นห่วงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจของโลกเรา เช่น ถ้าฟองสบู่แตกขึ้นมาอาจจะกระทบกับการเงินของเราได้ เราก็เคยเห็นตัวอย่างตอนเศรษฐกิจตกต่ำ ทำเอาหลายคนกินไม่ได้นอนไม่หลับไปหลายวัน เพราะฉะนั้น วันนี้จะมาบอกเคล็ดลับวางแผนการเงินให้ฟังกันครับ ว่าเราจะสร้างนิสัยวางแผนการเงินเพื่อป้องกันปัญหาทางเศรษฐกิจ หากเกิดอะไรขึ้นมา เราจะได้อยู่รอดปลอดภัยครับ



1
. มีกองทุนฉุกเฉิน

หากเพื่อนๆเก็บเงินอยู่ในกองทุนดอกเบี้ยสูงที่รับประกันความปลอดภัยระดับหนึ่ง เราก็จะแน่ใจได้ว่าเงินของเราจะยังอยู่ครบหากเกิดอะไรขึ้นได้ แถมยังสามารถถอนออกมาใช้ในยามฉุกเฉินได้ง่าย อย่างเช่น หากเราตกงานหรือมีค่าใช้จ่ายเงินใหญ่ครับ

2. อย่าใช้เงินเกินตัว

ถ้าเพื่อนๆชินกับการใช้เงินอย่างประหยัดและมีเงินเก็บเหลือในทุกวัน ก็เป็นการวางแผนการเงินที่ช่วยให้เรามีความเสี่ยงเป็นหนี้น้อย ถ้าเกิดราคาน้ำมันหรือค่าครองชีพแพงขึ้น เราก็จะสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้นครับ ถ้าเราเป็นหนี้อยู่แล้ว เกิดของราคาสูงขึ้นมาเราก็จะหาเงินมาโปะตรงนี้ได้ลำบาก
ถ้าเพื่อน ๆ จะพยายามมากกว่านี้อีกนิด ก็ลองวิธีวางแผนการเงินฉบับครอบครัวแบบนี้ครับ หากเราและคู่ของเรามีรายได้ทั้งคู่ เพื่อนๆลองใช้ชีวิตให้อยู่ในงบประมาณรายได้ของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ถ้าจะพอประหยัดได้ เพราะการวางแผนการเงินแบบนี้ ในเวลาปกติ เราก็จะมีเงินเหลือเก็บเยอะขึ้น แต่ถ้าเกิดคนใดคนหนึ่งถูกเลย์ออฟกะทันหันขึ้นมา บ้านเราก็จะยังอยู่ได้โดยไม่เดือดร้อนเกินไปครับ

3. มีแหล่งรายได้มากกว่า ทาง
แม้ว่าเรามีงานประจำอยู่แล้ว แต่เพื่อน ๆ ก็อาจจะลองหารายได้เสริมไว้บ้างนะครับ ไม่ว่าจะเป็นงานที่ทำออนไลน์ หรือขายของเล็ก ๆ น้อย ๆ นอกเวลางาน เพราะความไม่แน่นอนของธุรกิจในปัจจุบันทำให้เราต้องวางแผนการเงินอย่างรอบคอบ และเราไม่ควรจะพึ่งพารายได้จากแหล่งเดียวครับ อย่างน้อยถ้าเพื่อน ๆ ตกงานกระทันหัน ก็ยังมีงานรายได้เสริมที่จะช่วยให้เรามีเงินในช่วงที่หางานใหม่ได้ครับ เผลอ ๆ บางคนจับทางถูก ไม่ต้องง้องานประจำแต่เอางานเสริมมาเป็นรายได้หลักเลยก็มีนะครับ

4. วางแผนการเงินด้วยการลงทุนระยะยาว

ในบางครั้งถ้าเงินที่เราลงทุนไว้ขาดทุนเพราะว่าหุ้นตกก็อย่าเพิ่งตกใจไปนะครับ ขอให้เรามองยาว ๆ ก็น่าจะรู้ว่าตลาดมีวันขึ้นลงเป็นรอบ ๆ และในระยะยาวเพื่อน ๆ ก็สามารถขายทำกำไรได้อยู่แล้ว แต่ต้องระวังนิดนึงนะครับ ถ้าเราใกล้วัยเกษียณแล้ว อาจจะรอไม่ได้ เราต้องวางแผนการเงินอีกแบบ อาจจะย้ายเงินส่วนหนึ่งไปไว้ในกองทุนความเสี่ยงต่ำ หรือเลือกบัญชีเงินฝากประจำดอกเบี้ยสูงเอาไว้เพื่อให้มั่นใจว่าเราจะมีเงินใช้หลังเกษียณ

5. เข้าใจการยอมรับความเสี่ยงของตัวเอง

แม้ว่ากูรูการลงทุนหลายคนจะชอบพูดว่าอายุเท่านี้ควรจะวางแผนการเงินแบบนี้ โดยเฉพาะคนที่อายุน้อยควรจะลงทุนแบบความเสี่ยงสูง แต่ถ้าเพื่อนๆยอมรับความเสี่ยงสูงไม่ได้ ก็อาจจะต้องปรับการลงทุนของตัวเองครับ เราอาจจะต้องดูว่าความหวือหวาของทรัพย์สินแบบไหนที่เราพอรับได้ หากราคาหุ้นที่เราถืออยู่ตกไป 20 เปอร์เซ็นต์แล้วทำให้เรานอนไม่หลับทั้งคืนล่ะก็ เพื่อน ๆ ก็ต้องเปลี่ยนการวางแผนการเงินใหม่ เช่น เอาเงินไปใส่ไว้ในกองทุนที่ราคาไม่ได้ขึ้นลงมากจนเราตกใจแทนครับ แต่อย่างที่พี่หมีบอกไปแล้ว ถ้าเราเข้าใจการลงทุนในระยะยาว เราก็อาจจะต้องอดทนมากขึ้น และวางแผนการเงินให้ยอมรับความเสี่ยงได้มากขึ้นครับ

6. ลงทุนในหลาย ๆ แหล่ง

เพื่อน ๆ อาจจะเคยได้ยินคนที่บอกว่าถ้าเราเก็บเงินไว้ที่เดียวจะอันตรายมาก ซึ่งจริงครับ การวางแผนการเงินที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการลงทุนในทรัพย์สินหลายอย่าง เพราะถือเป็นการกระจายความเสี่ยงและกระจายอาการตกใจของเราครับ เช่นถ้าตอนนี้เพื่อน ๆ มีบ้านและมีบัญชีเงินออมทรัพย์ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพราะว่าถือว่าเราได้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ 1 อย่างแล้วก็มีเงินสดเก็บไว้ 1 ที่ครับ แนะนำว่าพยายามหาแหล่งทุนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกันโดยตรง เพราะถ้าเกิดอันนึงราคาตก อีกอันขึ้น เราก็ยังพอจะอุ่นใจได้อยู่ครับ

7. รักษาคะแนนความน่าเชื่อถือของตัวเองให้ดี

เมื่อเศรษฐกิจขาลง แน่นอนว่าคนที่มีคะแนนความน่าเชื่อถือสูงก็จะได้รับอนุมัติเงินกู้ หรือเครดิตได้ง่ายกว่า พี่หมีเลยจะแนะนำให้เพื่อน ๆ วางแผนการเงินให้ดีตั้งแต่ตอนนี้ สร้างนิสัยการจ่ายบิลให้ตรงเวลา อย่าเปลี่ยนบัตรเครดิตบ่อยและให้สัดส่วนหนี้กับเครดิตที่ได้มีเงินเหลือไว้เยอะๆครับ ซึ่งนิสัยแบบนี้ไม่ได้ดีเฉพาะเวลาขาลงเท่านั้น แต่เป็นนิสัยที่จะทำให้เราไม่ต้องเป็นหนี้ในช่วงเวลาปกติด้วยนั่นเองครับ
 

เศรษฐกิจขาลงดูเหมือนจะเป็นเรื่องน่ากลัว แต่ถ้าเราวางแผนการเงินให้ดี ก็สามารถป้องกันผลกระทบและรักษาทรัพย์สินของเราไว้ให้ดีได้ครับ เพราะการเก็บเงินและการลงทุนต้องใช้เวลาทั้งนั้น

 สนใจเรื่องวางแผนการเงิน คลิก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น