11 สิงหาคม 2559

อาชีพนักวางแผนการเงิน (FINANCIAL ADVISOR)


อาชีพนักวางแผนการเงิน (FINANCIAL ADVISOR)
ยังเป็นสิ่งใหม่ในอุตสาหกรรมการเงิน ในสังคมส่วนใหญ่ยังไม่รู้จัก หรือแม้แต่จะเข้าใจไปผิดๆ ก็เยอะ เช่น 

1. มาวางแผนการเงินก็คือ มาขายประกันนั้นแหละ ไม่ต้องมาทำแอ๊ป (กระทู้ในพันธ์ทิพย์) 

2. เชื่อว่า นักวางแผนการเงินต้องเก่งเรื่องหุ้นแน่ๆ (คิดแบบนี้กันเยอะ) ที่จริงแล้วนักวางแผนการเงินไม่ใช่นักวิเคราะห์หลักทรัพย์นะครับ 
3. การวางแผนการเงิน เหมาะกับคนรวยเท่านั้นแหละ (อ้าวแล้วคนกินเงินเดือนไม่มีเป้าหมายชีวิตหรือ)
4. นักวางแผนการเงิน ใครๆก็เป็นได้

จึงเป็นบทบาทที่ท้าทายสำหรับ FA ยุคบุกเบิก (Pioneer) อย่างพวกเรา ที่จะทำให้ อาชีพนักวางแผนการเงิน เป็นที่ยอมรับ และเป็นที่ต้องการของคนในสังคมให้ได้ เรามีหน้าที่ที่ต้องทำอย่างถูกต้อง เป็นกลาง รักษาจรรยาบรรณ และให้ผู้วางแผนเป็นศูนย์กลาง (หรือเพื่อผู้วางแผน ไม่ใช่เพื่อตัวเรา) เรามีหน้าที่ที่จะช่วยทำให้ผู้คนในสังคมได้บรรลุเป้าหมายในการดำเนินชีวิต และการเงิน สุดท้ายแล้วคนในสังคมจะเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของ FA อย่างถูกต้องเอง
บทบาทหน้าที่ของ FA มีอะไรบ้างมาดูกันครับ
1. FA มีหน้าที่ช่วยผู้วางแผนในการ 1.กำหนดแผนชีวิต 2.กำหนดเป้าหมายทางการเงิน 3.การให้น้ำหนัก และเวลากำกับอย่างชัดเจน แผนชีวิตแทบทุกแผนล้วนมีการเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เมื่อไรที่เราทำให้แผนการเงินบรรลุได้ แผนชีวิตก็จะบรรลุตาม เป็นเหตุและผลต่อกัน
2. ทำความรู้จัก ศึกษารายละเอียดของผู้วางแผน เก็บข้อมูลทางการเงิน นิสัยทางการเงิน และทรัพยากรณ์ด้านการเงินที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งทั้งหมดนี้ FA จะอยู่บนจรรยาบรรณ ของการรักษาความลับของลูกค้า สบายใจกันได้ครับ
3. จัดทำงบการเงิน และวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) เพื่อสะท้อนสถานะการเงินในปัจจุบัน และในอนาคตของผู้วางแผนออกมา ตรงนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดครับ เหมือนกลยุทธ์รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง หากเราไม่รู้จุดอ่อนด้านการเงินของเราเองแล้ว เราคงไม่มีวันชนะในเกมส์ชีวิตครับ
4. ปรับ/แก้ไข (เน้นครับ ปรับ/แก้ไข ไม่ได้เสนอให้ซื้อสินค้าการเงินใดๆทั้งสิ้นครับ) เราจะเริ่มต้นจากการปรับสินทรัพย์ทางการเงินที่ผู้วางแผนมีอยู่ในปัจจุบันก่อนครับ เช่นการโยกย้ายสินทรัพย์ทางการเงินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ย้ายไปเป็นสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ หรือบางคนกลับกันครับ อะไรๆก็ไปลงในหุ้น บางทีก็ต้องปรับย้ายออกมาเป็นเงินกันสำหรับค่าใช้จ่ายสภาพคล่องบ้าง ขั้นตอนนี้เปรียบเหมือนเวลาจะต่อเติมบ้าน ก็ต้องศึกษาฐานรากให้ดีก่อน หากฐานรากไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะสมก็ต้องซ่อมให้เรียบร้อยก่อนครับ ไม่เช่นนั้นสร้างขึ้นไปก็ไม่สมบูรณ์ หรือไม่ปลอดภัย (จะเห็นว่าแท้จริงแล้วนักวางแผนการเงินสามารถช่วยท่านได้ โดยยังไม่ต้องซื้อสินค้าทางการเงินเลย)
5. ทำแผนการเงินต่างๆ เช่น แผนเกษียณ แผนทุนการศึกษา แผนปลดหนี้สิน ตามเป้าหมายข้างต้น พวกนี้ FA ต้องคำนวณ วิเคราะห์ กระทบรายได้ กระทบสินทรัพย์ กระทบหนี้สิน ความเสี่ยง ขึ้นตอนต่างๆก็เยอะพอสมควรครับ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ออกมาจะสะท้อนเป็นปริมาณ และแนวทางในการบรรลุแผนการเงิน ขั้นตอนนี้แหละครับที่ FA และท่านต้องมาคุยกันในเรื่องการจัด Port Folio (จัดสัดส่วนการลงทุน)
6. จัดทำแผนนำเสนอ และรูปเล่มแผนการเงินที่สวยงาม เพื่อให้ผู้วางแผนได้เข้าใจ และเก็บไว้เพื่อศึกษาต่อไป
7. สนับสนุนการลงมือในภาคปฏิบัติของผู้วางแผน FA อย่างเราเป็นได้เพียงผู้ให้การสนับสนุนในการลงมือภาคปฏิบัติของผู้วางแผน รวมถึงการให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง หรือแนะนำผู้ชำนาญการด้านปฏิบัติให้ได้รู้จักกับผู้วางแผน
8. ทบทวนการแผนเงินเป็นระยะๆ หัวข้อนี้เป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งครับ สำเร็จ ไม่สำเร็จก็เพราะข้อนี้แหละครับ






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น